พาราสาวะถี อรชุน
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม มติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือกสท. ที่สั่งให้พักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์พีซ ทีวี ชั่วคราวเป็นเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ถึง วันที่ 10 สิงหาคม 2559 ย่อมถูกมองว่ามีเบื้องหลัง เพราะเป็นห้วงเวลา 1 เดือนที่จะมีการรณรงค์เรื่องการทำประชามติอย่างเข้มข้น
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม มติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือกสท. ที่สั่งให้พักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์พีซ ทีวี ชั่วคราวเป็นเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ถึง วันที่ 10 สิงหาคม 2559 ย่อมถูกมองว่ามีเบื้องหลัง เพราะเป็นห้วงเวลา 1 เดือนที่จะมีการรณรงค์เรื่องการทำประชามติอย่างเข้มข้น
อย่างที่รู้กันสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวถือเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายนปช.ที่แสดงจุดยืนอันชัดเจนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การดำเนินการของกสท.จึงถูกมองว่าเป็นการรับใบสั่งมาจากใครสักคน ที่ไม่ต้องการให้มีเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ขวางหูขวางตา อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการไล่ปิดศูนย์ปราบโกงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ กสท.กำลังดำเนินการผิดกฎหมายทางปกครองหรือไม่ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์พีซทีวีที่ออกอากาศอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะได้รับความคุ้มครองจากศาลปกครอง หลังจากไปยื่นร้องขอความคุ้มครองชั่วคราว จากการที่ถูกกสท.เพิกถอนใบอนุญาตไปตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า กสท.กำลังสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
กรณีนี้เชื่อแน่ว่าทางฝ่ายสถานีน่าจะต้องมีการยื่นร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องอำนาจศาล บนคำถามที่ว่า เหตุใดกสท.ถึงยอมเสี่ยงที่จะกระทำผิดทางปกครอง จนเป็นข้อชวนให้สงสัยว่าลำพังคณะกรรมการกสท.ไม่กล้าคิดกระทำเองแน่นอน หากไม่มีคำสั่งจากใครคนหนึ่งคนใดมาจัดการ ซึ่งอยู่ที่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดหรือแค่ลูกไล่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ลุแก่อำนาจไปสั่งการแทน
โดยที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจ การปิดพีซ ทีวี เป็นการวางแผนกันมาก่อนหน้านี้แล้ว สาเหตุการปิดไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเนื้อหาได้ฝ่าฝืนประกาศคสช. แต่เป็นการใช้อำนาจสั่งปิดปากฝ่ายเห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะถึงการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ดังนั้น การใช้อำนาจเช่นนี้จึงสูญเสียความชอบธรรม
ในสถานการณ์การต่อสู้นั้นจะไม่มีวันยอมแพ้กันจนกว่าจะจบศึกการต่อสู้ ขอให้อำนาจสั่งการนอกห้องประชุมกสท.คิดให้ดี เพราะการปิดพีซ ทีวี ได้ปลุกอารมณ์ประชาชนจนสุดที่จะอดทนกับสภาวะถูกกระทำได้อีกแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงจะมีการงัดกลยุทธ์ทีเด็ด “มดแดงรุมกัดช้างสารคึกคะนอง” มาต่อสู้ อันหมายถึงพลังประชาธิปไตยจะแยกตัวต่อสู้อย่างไร้ทิศทาง โดยมีเป้าหมายรุมกัดช้างศึก (รัฐประหาร) ไปทั่วตัว
พลังประชาธิปไตยจะเดินไปทุกการสื่อสารในสังคมยุคใหม่ที่เรียกกันง่ายๆว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ค สิ่งนี้คือกลยุทธ์ที่เหลืออยู่ของฝ่ายประชาชน ที่กำลังเผชิญหน้ากับฝ่ายอำนาจสืบทอดคึกคะนอง แม้เสียเปรียบ แต่ก็ต้องสู้กัน เพราะเป็นการสู้ที่แกนนำคนเสื้อแดง อย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ เชื่อมั่น โดยส่งสัญญาณว่าถ้าคิดดีแล้วว่าปิดพีซ ทีวี แล้วหวังชนะ คุณจะแพ้อย่างน่าสมเพชที่สุด
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ฝ่ายประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในอำนาจแห่งประชาชนจะเห็นผลสัมฤทธิ์เหมือนอย่างที่คิดไว้หรือไม่ เช่นเดียวกันกับฝ่ายกุมอำนาจที่ยึดมั่นในอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะสามารถจัดการทุกเรื่องได้อย่างสงบราบคาบจะบรรลุเป้าหมายตามที่วาดหวังไว้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การรุกตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายประชามติเป็นสิ่งที่ชวนให้คิด
โดยมีเสียงค่อนขอดมาจากฝ่ายนปช. ว่า ไม่นึกว่าก่อนหน้านี้มีการไล่ปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของนปช. แต่คล้อยหลังได้ไม่นานรัฐบาลกลับตั้งศูนย์ปราบโกงเสียเอง มีการตั้งคำถามว่า ไม่รู้สึกอายที่มาลอกแนวทางของนปช.บ้างหรือ น่าแปลกใจมากที่ต้นแบบถูกดำเนินคดีแต่ของก๊อบปี้มีอำนาจรัฐจัดให้ ทำไมไม่คิดเหมือนตอนที่บอกนปช.ว่า “ใครจะไปโกงประชามติ”
สิ่งที่ชวนให้คิดต่อไปคงเป็นคำพูดของผู้มีอำนาจเองในวันที่ห้ามตั้งศูนย์ปราบโกง นั่นก็คือ กกต.ทำหน้าที่อยู่แล้วจะตั้งศูนย์ขึ้นมาทำไม ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลก็อย่าอ้างว่ามีอำนาจทำได้ เพราะศูนย์ปราบโกงนปช.หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่เรื่องอำนาจ แต่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ อำนาจรัฐจะละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ได้
มากไปกว่านั้น การตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นมา มีรายงานว่า เป็นเพราะมีบางหน่วยงานลงพื้นที่ประเมินความคิดประชาชนแล้วผลออกมาน่าตกใจ แม้แต่ในกลุ่มครู ค. เอง ฝ่ายประชาธิปไตยก็เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่จะสวนทางกับผู้มีอำนาจ นั่นจึงเป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่า การตั้งศูนย์ของรัฐบาลเป็นการแก้เกมโดยเพิ่มการใช้อำนาจรัฐเพื่อกำหนดผลประชามติให้เป็นไปตามต้องการหรือไม่
สรุปแล้วก็คือ นอกเหนือจากเปิดช่องให้ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญและผู้สนับสนุนได้ชี้แจง (ยัดเยียด) ข้อดีของประชาชนได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การลงประชามติหนนี้มีการใช้กลไกรัฐทุกด้านเพื่อที่จะทำให้การทำประชามติเป็นไปอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการ ด้วยข้ออ้างสารพัด ทั้งที่ชัดเจนว่านี่เป็นการใช้กลไกรัฐและงบประมาณแผ่นดิน ดำเนินการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์
งบประมาณที่ทุ่มลงไปมหาศาลนั้น ไม่น่าเชื่อจนป่านนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มที่จะต้องส่งถึงมือครัวเรือนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างช้าภายในระยะเวลา 15 วันก่อนการลงประชามติ จะมีปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น นั่นก็คือ จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญพลาด พิมพ์เลขหน้าสลับกันวุ่นวายไปหมด และบางมาตราสำคัญก็สลับจนสับสน
มากไปกว่านั้นครู ค. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระดับพื้นที่ที่จะไปชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในระดับหมู่บ้านชุมชน ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มแล้วจะไปศึกษาเนื้อหาสาระอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างไร นี่คือความสะเพร่าหรือมักง่ายในการบริหารจัดการหรือไม่ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถือเป็นจุดสำคัญของการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอของกกต.ที่ว่าจะแจกจุลสารหรือบุ๊คเล็ตให้กับประชาชนแทนนั้น ไม่น่าจะถูกต้องเพราะระหว่างการสรุปเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มทั้งฉบับมันต่างกันลิบลับ เห็นการขยับที่แปลกแปร่งบวกเข้ากับข้อผิดพลาดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว การทำประชามติหนนี้ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรเชื่อได้เลยว่า จะมีแต่ปัญหามากกว่าผ่านไปอย่างราบรื่นและสวยงาม