พาราสาวะถี อรชุน

ปากก็บอกว่าเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้ แต่ในการกระทำหรือพฤติกรรมที่เห็นเป็นคนละเรื่อง ล่าสุด เหตุเกิดที่เชียงใหม่ สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรเปิดเวทีสัญจร “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้อง”โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกณฑ์นักเรียนนักศึกษากว่า 300 คนมาฟังการบรรยาย มี อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ.ไปให้ความรู้ร่วมกับกกต.จังหวัดเชียงใหม่


ปากก็บอกว่าเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้ แต่ในการกระทำหรือพฤติกรรมที่เห็นเป็นคนละเรื่อง ล่าสุด เหตุเกิดที่เชียงใหม่ สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรเปิดเวทีสัญจร รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้องโดยจับมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกณฑ์นักเรียนนักศึกษากว่า 300 คนมาฟังการบรรยาย มี อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ.ไปให้ความรู้ร่วมกับกกต.จังหวัดเชียงใหม่

ในเมื่อต้องการที่จะให้เด็กๆ เรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย ก็ต้องเปิดใจให้กว้าง แต่ปรากฏว่าในงานดังกล่าว นักศึกษาสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินแจกเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หลังแจกไปได้ 5 นาที ก็ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินเก็บเอกสารคืนทั้งหมด

นี่ไงที่เป็นบทพิสูจน์ว่า สิ่งที่อ้างกันมาโดยตลอดเปิดให้ทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงออกอย่างเต็มที่เป็นแค่ลมปากที่ยากต่อการเชื่อถือ ดังนั้นกรณีของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับกุมคุมขังอันเนื่องมาจากการไปแจกเอกสารรณรงค์การทำประชามติในส่วนของคนเห็นต่างที่บางพลี แม้จะไม่ผิดกฎหมายประชามติแต่ถูกเล่นงานด้วยกฎหมายอื่น จึงเป็นเครื่องยืนยันการปิดปากฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี

แรงกดดันภายในนั้นคงยากที่จะได้รับการตอบสนอง เพราะกฎหมายวิเศษที่รุนแรง อันนี้ยืนยันมาจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เองที่ย้ำว่ามาตรา 44 คือกฎหมายที่แรงที่สุด สามารถจัดการสะกดความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่าย (เน้นหนักเฉพาะพวกเห็นต่าง) ได้ แต่ปฏิกิริยาจากต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่น่าคิด

เพราะท้ายที่สุดหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติในบรรยากาศเช่นนี้ ย่อมมีปัญหาเรื่องการยอมรับตามมา ก่อนจะไปพูดถึงข้อเรียกร้องขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ถ้อยแถลงของ นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ.ที่ร่วมคณะเป็นตัวแทนของบิ๊กตู่ไปชี้แจงต่อยูเอ็นที่สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก คงจะเป็นภาพสะท้อนอะไรได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าคณะผู้แทนของผู้นำไทยจะยืนยันเรื่องโรดแมปมีเลือกตั้งแน่ในปี 2560 แน่นอน แต่รักษาการเลขาธิการยูเอ็นก็ตอกย้ำความต้องการซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่ บัน คี มุน ได้ยืนยันกับบิ๊กตู่ซึ่งโทรศัพท์ไปหาเมื่อเดือนก่อนว่า อยากให้มีการแสดงความคิดเห็น รับฟังเสียงประชาชนในช่วงของการทำประชามติ นั่นหมายความว่าทางโน้นเขาได้รับรายงานเรื่องการปิดกั้นอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุด สำนักเลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก ร่วมกันเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานกรรมการการเลือกตั้ง เรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ 13 นักศึกษาและนักกิจกรรมที่โดนจับกุมและตั้งข้อหาจากการรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยปฏิบัติการดังกล่าว เป็นการกระตุ้นให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดต่อนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 13 คนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และกระตุ้นให้ทางการไทยยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ รวมทั้งในระหว่างที่ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปการเมือง

นี่คือปฏิกิริยาที่ผู้มีอำนาจบอกมาโดยตลอดว่าเป็นเพราะการได้รับข้อมูลที่ผิดๆ มีการชี้แจงต่อต่างชาติตลอดเวลา ถ้าเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศนั่นอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ว่าเขาไม่พยายามจะเข้าใจในสิ่งที่ทางการไทยอธิบายเพราะรับไม่ได้กับรัฐบาลรัฐประหาร แต่กรณีของยูเอ็นไม่น่าจะเป็นองค์กรที่ไม่ยอมรับด้วยเหตุผลดังกล่าว

ปฏิบัติการที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเห็นว่าดำเนินการตามกฎหมายนั้น มันต้องไปพิสูจน์ต่อว่าเป็นกฎหมายประเภทไหน เป็นกฎระเบียบอันเป็นสากลที่นานาชาติยอมรับหรือเป็นกติกาที่คณะรัฐประหารเขียนกันขึ้นมาเพื่อความมั่นคงแห่งอำนาจที่ตนยึดมาจากรัฐบาลประชาธิปไตย  เมื่อเป็นอย่างหลังภาพของการชี้แจงมันจึงเบลอๆ ในสายตาของคนภายนอก

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของคนภายในต่อการจับกุมนักศึกษาที่รณรงค์ประชามตินั้น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดไว้ที่หอประชุมศรีบูรพาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เราต้องมายืนยันสิทธิของเราในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ7 สิงหาคมว่า การรณรงค์ให้รับหรือไม่รับหรือไม่ออกเสียงนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมไม่ผิดกฎหมาย

คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าผลของประชามติวันที่ 7 สิงหาคม (ถ้าจะมี) นั้นจะออกมาเช่นไร แต่เราคงจะรู้ได้แน่ๆ ว่าการที่คณะรัฐประหาร จับกุมเอาคนหนุ่มสาวไปขังในคุกนั้น เป็นสิ่งที่ผิดอย่างแน่นอนตนเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สังคมใดก็ตามที่จับเอาคนหนุ่มสาวมาขังคุก สังคมนั้นไม่มีอนาคต และยิ่งจะไม่มีอนาคตมากขึ้น เมื่อคนที่จะมากำหนดอนาคตของประเทศกลับกลายเป็นบรรดาผู้สูงวัยมีอายุกว่า 60 ปีถึงกว่า 90 ปี

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ชาญวิทย์ฉายภาพต่อไปว่า ในอดีตที่ผ่านมาได้บอกเล่าเรื่องราวว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนั้น เกิดได้ด้วยคนหนุ่มสาวแทบทั้งสิ้นคณะที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองร.ศ. 130 นั้นเป็นนายทหารหนุ่มทั้งสิ้น ร้อยเอกนายแพทย์ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือนายเหล็ง ศรีจันทร์ มีอายุเพียง 30 ปีปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรอายุเพียง 32 ปีเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนถูกจับ พร้อมๆ กับการเปิดทางให้มีการรณรงค์ เชิญชวนให้มีการทำประชามติ 7 สิงหาคมในวิถีทางที่เป็นอารยะ เป็นประชาธิปไตยและเป็นสันติประชาธรรม ขอให้ผู้บริหาร ผู้กุมอำนาจ ผู้กุมกลไกของความรุนแรงได้เปิดตาเปิดใจ มองเห็นความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และความเป็นพลเมืองของประเทศไทย

บทสรุปที่น่าสนใจก็คือ บ้านเมืองของเราเสียเวลามามากแล้ว เราต้องเลิกพายเรือในอ่าง (น้ำเน่า) และที่สำคัญที่สุดต้องออกไปจากกะลา ไปให้พ้นความมืดบอด อคติและความเห็นแก่ตัว แก่เพียงหมู่คณะของตนเองเราต้องตั้งมโนสติที่ยึดในคำมั่นสัญญาว่า เราจะเป็น อยู่ คือ ชาติและราษฎรของสยามประเทศ ครบถ้วนบริบูรณ์ในสิ่งที่ควรจะเป็น

Back to top button