พาราสาวะถี อรชุน

นับนิ้วดูแล้วจากวันนี้ไปเหลืออีก 1 เดือนพอดิบพอดี คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งก็จะได้ไปลงคะแนนเสียงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ในขณะที่ผลโพลสำนักต่างๆ ออกมาใกล้เคียงกันคือ ส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ว่าวันลงประชามติคือ 7 สิงหาคม พอเป็นเช่นนั้นมันเลยทำให้คนสงสัยเรื่องงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาทเพื่องานนี้ ใช้ประชาสัมพันธ์กันอีท่าไหน


นับนิ้วดูแล้วจากวันนี้ไปเหลืออีก 1 เดือนพอดิบพอดี คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งก็จะได้ไปลงคะแนนเสียงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ในขณะที่ผลโพลสำนักต่างๆ ออกมาใกล้เคียงกันคือ ส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้ว่าวันลงประชามติคือ 7 สิงหาคม พอเป็นเช่นนั้นมันเลยทำให้คนสงสัยเรื่องงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาทเพื่องานนี้ ใช้ประชาสัมพันธ์กันอีท่าไหน

สัญญาณที่จับต้องได้คงเป็นผลของการที่กกต.เปิดให้ประชาชนที่มีความประสงค์จะใช้สิทธิลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งจากเดิมที่ครบกำหนดไปตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน แล้วขยายมาอีก 7 วันสิ้นสุด 7 กรกฎาคมนี้ ยังพบว่ามีคนมาขอใช้สิทธิดังกล่าวเพียงแค่ 2 แสนกว่ารายเท่านั้น ไม่ต้องนำมาเทียบเคียงกับการลงประชามติครั้งแรกและยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้งทั่วไปด้วย

ภาพสะท้อนดังกล่าวคงจะไม่โทษไปที่กกต.เพราะอย่างไรเสียก็ไม่ยอมรับความเป็นจริง สิ่งที่ชวนให้คิดคือ ประชาชนไม่ให้ความสนใจต่อกระบวนการปฏิรูปเพื่อความเปลี่ยนแปลง ไม่ใส่ใจที่จะไปแสดงพลังต่อร่างรัฐธรรมนูญของคณะคสช.เลยหรือ หรือเป็นเพราะการปิดกั้นห้ามแสดงความเห็นไม่ว่าจะฝ่ายรับหรือเห็นต่าง เลยทำให้บรรยากาศการทำประชามติไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุนี้ จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้มีอำนาจ เพราะโอกาสที่จะสร้างความชอบธรรมด้วยคะแนนเสียงอันมหาศาลของประชาชนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะกระตุ้นหรือกระทุ้งด้วยอำนาจพิเศษอย่างไรก็ไม่ทำให้เสียงที่อยากเห็นนั้นมันกระเตื้องขึ้นมา ถ้าเช่นนั้นประเด็นที่ว่าอาจจะไม่มีการทำประชามติเกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยอย่างแน่นอน

หากจะพูดกันให้ตรง คงต้องยอมรับความเป็นจริงประการหนึ่งว่า นี่เป็นสัจธรรมแห่งอำนาจไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม ยิ่งอยู่นานวันแล้วสถานการณ์ของบ้านเมืองไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น พูดง่ายๆ คือมองไม่เห็นอนาคต คนย่อมเกิดความเบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก ดังนั้น แม้แต่เรื่องที่โหมประโคมว่าเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติก็ไม่มีใครมีกะจิตกะใจอยากมีส่วนร่วม

หรือถ้าบอกได้ก็คงอยากจะพูดว่าให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเร็วๆ หน่อยจะได้ไหม ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจเองก็จะเห็นอาการแกว่งได้อย่างชัดเจนจากกรณีการจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่รณรงค์ประชามติแล้วถูกจับด้วยข้อหาด้านความมั่นคง โดยที่คนเหล่านั้นไม่ยอมยื่นประกันตัวเพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิด จนในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว

อย่างไรก็ตาม จากกรณี 7 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ การไม่อินังขังขอบของคนรุ่นเก่าที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเดือนตุลาหรือผู้ที่ผ่านขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีตไม่ว่าจะเหตุการณ์ใดก็ตาม การเพิกเฉยดังกล่าวทำให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ต้องถึงเขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว

เรียกร้องไปถึงเพื่อนกวี เพื่อนนักเขียน เพื่อนศิลปินและเพื่อนในแวดวงสื่อมวลชน โดยกล่าวถึงความผิดหวังต่อคนรุ่นเดียวกันที่เคยร่วมต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพื่อเสรีภาพในการคิด การแสดงออก และยกย่องภูเขาแห่งสัจจะ แต่ปัจจุบันคนรุ่นนั้นที่เคยต่อสู้กับภัยเหลือง ภัยขาว ภัยเขียว และร่วมต่อสู้ในรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ตัวเองเคยรังเกียจและอยากเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว และยังเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับคนรุ่นหลัง

สุชาติเรียกร้องให้นักเขียน ศิลปินและผู้ที่เคยต่อสู้และมีอุดมการณ์เดียวกันเมื่อครั้งยังเยาว์ขบคิดและเข้าใจกับสภาพที่เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีจิตวิญญาณขบถแบบที่ครั้งหนึ่งคนรุ่นเขาเคยมี และยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว 7 นักศึกษาและนักโทษทางความคิดด้วย เราในแวดวงเดียวกันต่างเคยมีบทเรียน มีบาดแผล แต่ทำเป็นเหมือนไม่เคยและไม่เคยจดจำ

เวลาผ่านไป บางคนมีชื่อเสียง มีฐานะทางสังคม มีคนหนุ่มสาวรุ่นลูกหลานเฝ้าติดตาม ด้วยความประทับใจ ในความใฝ่ฝันแสนงามที่คนหนุ่มสาวรุ่นเราเคยทำไว้ แต่มันก็เป็นเพียงภาพหลอนเบลอๆ ที่อยู่ไกลๆ พวกเขาหารู้ไม่ว่า พวกเรานั้นชราภาพไปแล้ว เพราะมีความอิ่มตัว กลัวความเปลี่ยนแปลง มีเรื่องที่ทำให้ต้องคิดสองครั้งเสมอ

สิ่งที่สุชาติกระตุกต่อมสำเหนียกของคนรุ่นเขาอย่างน่าสนใจนั่นก็คือ เราเคยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขา จะเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขากลับไม่เปลี่ยน พวกเราต่างหากที่เปลี่ยนไปเป็นเหมือนพวกเขา คือกลายเป็นเหมือนมนุษย์พันธุ์เก่าแบบพวกเขาที่เติบโต และมีฐานะทางชนชั้นที่เข้าได้กับระบบที่ยังเหลื่อมล้ำ จากการต่อต้านผู้กดขี่ก็กลายมาเป็นผู้กดขี่เสียเอง

ไม่เพียงเท่านั้นเขายังฉายภาพของ 7 นักศึกษาในวันที่เข้าไปเยี่ยมในห้องขังได้อย่างเห็นภาพ แววตาใส เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความเชื่อมั่นที่ตนเข้าไปเห็นในห้องขังนั้น มันบ่งบอกให้มองเห็นความไม่เป็นปกติของสังคมที่อยู่ข้างนอก สังคมที่สับสน มีอคติ และภยาคติ (คือความกลัว) ที่เข้ามาครอบงำให้สังคมของเราเข้าไปอยู่ในด้านมืด

ก่อนที่จะทิ้งท้ายโปรดให้ความเข้าใจและเรียนรู้ความจริงใจของพวกเขาผู้เป็นอนาคต พวกเขาคือลูกหลานของท่าน พวกเขาคือเงาสะท้อนของตัวท่านเมื่อวัยดรุณ ปล่อยพวกเขาและนักโทษทางความคิดทุกคนให้เป็นอิสระเถิด พวกเขาคือส่วนหนึ่งของอนาคตแต่พวกท่านไม่ใช่ ตรงนี้แหละที่ต้องขีดเส้นใต้เพราะบททิ้งท้ายมันเหมือนตัวชี้วัดอนาคตของประเทศ

ในเวลาเดียวกัน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็คลอดบทความการปฏิวัติ 2475 กับสถานการณ์รัฐประหาร บางช่วงบางตอนที่จับจ้องคือการพูดถึงคนเดือนตุลา หลังจากการรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และรื้อฟื้นระบอบเผด็จการทหารครั้งแรก เกิดการล่มสลายของคนเดือนตุลา เพราะผู้นำคนเดือนตุลาที่โดดเด่นหลายคน รวมทั้งบรรดาพวกนักร้องเพลงเพื่อชีวิต กลับกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านประชาธิปไตย และในที่สุดกลายเป็นพวกเหลืองสลิ่มมาจนถึงการสนับสนุนกปปส.

สิ่งที่ตามมาคือ ขบวนการฝ่ายคนเสื้อแดงและนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง จึงเริ่มตั้งคำถามกับขบวนการคนเดือนตุลาอย่างจริงจังว่า มีจิตสำนึกประชาธิปไตยจริงหรือไม่ 14 ตุลาจึงเสื่อมความหมายจากการเป็นหมุดหมายประชาธิปไตย การปฏิวัติ 2475 จึงกลายเป็นเหตุการณ์อันโดดเด่นมากยิ่งขึ้น 24 มิถุนา ได้ถูกรื้อฟื้นความสำคัญขึ้นมาและกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการต่อสู้เพื่อรื้อฟื้นประชาธิปไตย กระแสนี้กลายเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนคนทั่วไป แต่กลุ่มเสื้อเหลืองสลิ่มและนักวิชาการกระแสหลัก-อนุรักษนิยม อยู่นอกกระแสนี้ นี่เป็นทิศทางอันน่าสนใจอย่างยิ่ง

Back to top button