พาราสาวะถี อรชุน

ความหาญกล้าของคนหนุ่มสาวในสถานการณ์คนประชาธิปไตยในอดีตหดหัวหรือแปรเปลี่ยนอุดมการณ์ไปแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่คนเหล่านี้แสดงออกจนถึงขั้นถูกจับขังคุกแต่ไม่ยอมประกันตัว ใช้อิสรภาพของตัวเองแลกกับเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมไม่น้อย ดีกว่าพวกที่ปากบอกว่ารักประชาธิปไตยแต่วันเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าแค่การผายลมทางปากเท่านั้น


ความหาญกล้าของคนหนุ่มสาวในสถานการณ์คนประชาธิปไตยในอดีตหดหัวหรือแปรเปลี่ยนอุดมการณ์ไปแล้ว เป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่คนเหล่านี้แสดงออกจนถึงขั้นถูกจับขังคุกแต่ไม่ยอมประกันตัว ใช้อิสรภาพของตัวเองแลกกับเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมไม่น้อย ดีกว่าพวกที่ปากบอกว่ารักประชาธิปไตยแต่วันเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าแค่การผายลมทางปากเท่านั้น

ประเด็นการตีตรวน 7 นักศึกษาคดีประชามติ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรียุติธรรมฟาดงวดฟาดงา แสดงความไม่พอใจ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือกสม.ที่ออกมาท้วงติงในเรื่องความเหมาะสม โดยท่านรัฐมนตรีย้ำถึงกฎเกณฑ์ กติกาที่เจ้าหน้าที่สามารถทำได้ ใครหน้าไหนก็อย่ามาสะเออะ

แต่พอตัดภาพกลับไปที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นสายฮาร์ดคอร์มากกว่าบิ๊กต๊อดเสียด้วยซ้ำ กลับมองด้วยท่าทีนุ่มนวลและยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงว่า มันไม่น่าจะเหมาะสมที่ไปทำเช่นนั้น ในประเด็นนี้ไม่มีใครเถียงว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะดำเนินการ แต่คำถามที่ตามมาคือ ข้อหาและโทษที่นักศึกษาเหล่านั้นจะได้รับ มันหนักหนาสาหัสถึงขั้นต้องตีตรวนกันเลยหรือ

ยิ่งสิ่งที่พลเอกไพบูลย์ระบุว่าเจ้าหน้าที่เขากลัวผู้ต้องหาจะหลบหนี ยิ่งน่าหัวเราะกันไปใหญ่ เพราะคนที่แม้แต่ไม่ขอประกันตัวเขาจะคิดหนีได้อย่างไร นี่กระมัง ที่ว่ากันว่าถ้าจะดูน้ำใจคนก็ให้ดูความคิดของคนคนนั้นที่มีต่อคนผู้ถูกกระทำ ส่วนเรื่องความชอบธรรมนั้นคงไม่ต้องพูดถึงในบรรยากาศที่เห็นและเป็นไป พูดเมื่อไหร่ก็อายเขาเมื่อนั้น

คำพูดของ กรกช แสงเย็นพันธุ์ 1 ใน 7 นักศึกษาที่ถูกจับกุม จึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนให้คนที่มองไม่เห็นคุณค่าในการต่อสู้ของเด็กกลุ่มนี้ได้กลับย้อนไปมองตัวเองว่าสมควรที่จะคิดแบบนั้นหรือไม่ “ผมอยากเห็นความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ แต่สิ่งที่ผมเห็นและได้ประสบพบเจอตอนนี้มันคือความอยุติธรรม ผมจะไม่หยุดผมจะไม่สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการ ผมจะต่อสู้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียงความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เท่านั้นที่ถูกจับตาอย่างหวาดระแวง เอกสารเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญที่นักศึกษากลุ่มนี้จัดทำขึ้น ก็กำลังจะถูกเล่นงานด้วยข้อกล่าวหาบิดเบือน เนื่องจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.แสดงท่าทีล่าสุดว่า จะไปฟ้องให้กกต.ให้จัดการผู้จัดทำเอกสารดังกล่าว

ด้วยเหตุความไม่พอใจนับตั้งแต่ที่มีชัยเองได้รับแจกเอกสารดังกล่าวเมื่อคราวไปชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะแล้ว โดยเห็นว่านักศึกษาที่จัดทำไปใช้ปกแบบเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ยักรู้ว่า ปกร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีการจดลิขสิทธิ์ไว้ด้วย หากไม่มีใจอันเป็นอคติ เรื่องขี้หมาแค่นี้คงไม่มีใครจะหยิบยกไปหาเรื่องเด็ก

สำหรับเหตุผลที่ประเด็นนี้มีชัยหยิบยกมาสื่อสารอีกรอบ คงเป็นเพราะได้รับการฟ้องมาจาก อมร วาณิชวิวัฒน์ ที่ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อหลายวันก่อน แล้วมีกลุ่มนักศึกษาส่วนหนึ่งไปเดินแจกเอกสารของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จึงแสดงความไม่พอใจ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตเชิงหาเรื่องอีกว่า นักศึกษากลุ่มนี้ไปเอาเงินจากไหนมาพิมพ์เอกสารเยอะแยะขนาดนี้

เจตนาของการพูดเช่นนี้หนีไม่พ้นพยายามจะลากให้ไปเชื่อมโยงกับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ถือเป็นการดูแคลนเด็กๆ ไปหรือเปล่า คนเหล่านี้มีการวางแผนเคลื่อนไหวเป็นขั้นเป็นตอน มีการระดมทุนที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือการขายเสื้อโหวตโนที่ทำมาก่อนจะมีกฎหมายประชามติ ซึ่งถือว่าไม่ผิดกฎหมาย

แน่นอนว่า ราคาเสื้อนั้นอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่ราคาสำหรับฝ่ายที่รักประชาธิปไตยแล้ว เขาย่อมเห็นคุณค่าในการเคลื่อนไหวของเด็กเหล่านี้ จึงระดมทุนช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่โดยไม่คิดว่าสตางค์ที่ควักจ่ายไปนั้นจะมากหรือน้อย นี่ต่างหากที่คนอย่างมีชัยและคณะไม่ยอมมองเห็นหรือเห็นแล้วแต่มองข้ามไป ส่วนเรื่องขายเสื้อแม้ว่ากฎหมายประชามติจะมีผลบังคับใช้แล้ว สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ยืนยันว่าไม่ผิด

เนื่องจากเป็นการขายคนที่สมัครใจซื้อไม่ได้ไปรณรงค์เคลื่อนไหวหรือกระทำผิดกฎหมายย่อมไม่เข้าข่าย แต่หากเป็นการจ่ายแจกเพื่อสร้างแรงจูงใจอันนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทางกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้จึงยืนยันและยืนหยัดว่าสิ่งที่พวกเขากระทำไปนั้นไม่ใช่สิ่งผิด จิตใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยประชาธิปไตยที่ถูกต้องนี่แหละ ที่เป็นเกราะป้องกันทำให้วันนี้คนกลุ่มนี้ไม่ได้เดินแบบโดดเดี่ยว

กระบวนการแสดงความเห็นและแสดงออกเพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและชี้ให้เห็นกระบวนการทำประชามติที่ไม่ปกติ ไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศเท่านั้นที่เรียกร้อง หากแต่องค์กรระหว่างประเทศอย่างยูเอ็นก็ยืนยันมาโดยตลอด แน่นอนว่า ปฏิกิริยาชี้แจงโดยพลันนับตั้งแต่ครั้งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกหูหา บัน คี มุน แล้วให้สัมภาษณ์ก่อนจะตามมาด้วยการโพสต์ข้อความจากทางฝั่งเลขาธิการยูเอ็น

ล่าสุด ก็เป็นทางรองเลขาธิการยูเอ็น แยน อีเลียสสัน ที่เปิดเผยผลการหารือกับคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปพบที่นครนิวยอร์คเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา หลัง นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ.แถลงว่ายูเอ็นไม่ได้ติดใจกฎหมายประชามติของไทย โดยทางยูเอ็นระบุผลของการพูดคุยว่า แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานล่าสุดเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในช่วงก่อนการลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้

พร้อมระบุว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและเน้นถึงความจำเป็นของการแลกเปลี่ยนสนทนาที่เปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและสนับสนุนการปรองดองของชาติ ไม่อยากบอกว่านี่เป็นการตบหน้า แต่เป็นการกระตุกเตือนเพื่อให้ผู้มีอำนาจของไทยได้สำเหนียกว่า หากจะปฏิรูปเพื่อความยั่งยืนแล้ว เสียงทุกเสียงของคนในชาติมีความสำคัญและต้องเปิดใจกว้างรับฟัง

Back to top button