หยวน กับ ระดับวุฒิภาวะพลวัต 2016

นับแต่เงินหยวนจีน ได้รับการนำเข้าคำนวณในตะกร้าเงิน SDRs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินหยวนของจีนเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงค่าในทางขาลงรุนแรงมาแล้ว 2 ครั้ง


วิษณุ โชลิตกุล 

 

นับแต่เงินหยวนจีน ได้รับการนำเข้าคำนวณในตะกร้าเงิน SDRs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินหยวนของจีนเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงค่าในทางขาลงรุนแรงมาแล้ว 2 ครั้ง

ความผันผวนของค่าหยวน สะท้อนให้เห็นว่าภาระหรือต้นทุนของจีนในการทำให้เงินหยวนฝ่าวงจรระบบทุนนิยมเพื่อเป็นกสุลเงินสากลในอนาคตแบบเดียวกับเงินเยน หรือยูโร หรือ ดอลลาร์สหรัฐ ค่อนข้างสูงไม่น้อย  แต่ที่สำคัญคือ ยากจะบอกได้ชัดเจนว่าว่า ต้นทุนจะมากน้อยแค่ไหน และต้องจ่ายอีกนานแค่ไหน รวมทั้งคุ้มค่าหรือไม่

แม้ว่าปัจจุบัน ทางการจีน จะยังไม่ได้ปล่อยให้หยวนลอยตัวอย่างเสรีเหมือนสกุลเงินสำคัญของโลก แต่เลือกเอาวิธีบริหารจัดการรายวัน โดยมีคนคอยคำนวณเพื่อกำหนดค่าเงินหยวนแต่ละวัน เรียกว่า “ค่ากลาง” หรือ “ราคาทางการ” โดยอนุญาตให้ “ราคาตลาด” ปรับตัวขึ้นหรือลงไม่เกิน 2% ในแต่ละวัน ซึ่งแม้จะมีคำถามตามมาว่า ระหว่าง “ราคาทางการ” กับ “ราคาตลาด” นั้น อย่างไหนจะน่าเชื่อถือได้มากกว่ากัน แต่การที่ส่วนต่างไม่มากนัก ก็เลยพออะลุ้มอล่วยกันไป

ในวันที่ 7 มกราคมปีนี้  ค่าเงินหยวนของจีนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี จากแรงเทขายออกมา ทำให้ราคาตลาดจากราคาทางการ 3.32% แตะที่ 6.5646 หยวนต่อดอลลาร์ ส่งผลรุนแรงให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่ไม่คุ้นเคยกับปรากฏการณ์ มีแรงเทขายหุ้นอย่างหนักจนถึงขั้นต้องระงับการซื้อขายทั้งวัน หลังดัชนีร่วงมากกว่า 7% เป็นการใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ ถัดจากวันที่ 4 มกราคม ที่ใช้ไปแล้ว เพราะหุ้นตกหนักในวันนั้น 7.32%

การห้ามซื้อขายดังกล่าวของตลาดหุ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง จนกระทั่งผู้บริหารตลาดหุ้นจีนต้องออกมาประกาศว่าจะยกเลิก ไม่มีการใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์อีกต่อไป

ครั้งนั้น ทางการจีนต้องหาทางใช้มาตรการสารพัดมายับยั้งการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ ทั้งทางกฎหมายและทางมาตรการอื่นๆ เพราะทุนในประเทศเกรงกลัวที่จะมีมูลค่าลดลงในอนาคต จึงหาทางหลบหนีไปหาทรัพย์สินที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่มาตรการที่นำออกมาใช้อย่างลองผิดลองถูกของหน่วยงานรัฐจีนคราวนั้น ก็ยังทำให้มีการประเมินว่า ความเสียหายต่อตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรทั่วโลกช่วงนั้น มีมากถึง 1.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นโค้งการเรียนรู้” (learning curve) ของนักลงทุนทั้งในจีนและทั่วโลก ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเป็นรูปธรรม

หลังวิกฤตตลาดเก็งกำไรระลอกใหม่ 2 สัปดาห์ก่อน ภายหลังรับทราบผลการลงประชามติในอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ปรากฏว่า นักวิเคราะห์ทุกสำนัก ต่างมีข้อสรุปเสมือนนัดแนะกันว่า จีนเป็นชาติที่จะได้รับประโยชน์มากสุดจากวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในยุโรปและอังกฤษ เพราะทำให้ถนนทุกสายมุ่งหน้าไปหาปักกิ่ง และเพิ่มอำนาจต่อรองของจีนในเวทีโลกมากขึ้น

ข้อสรุปดังกล่าว จะทำให้ค่าเงินหยวนน่าจะมีคุณค่าสูงขึ้นจากความต้องการสะสมในมือของกองทุนข้ามชาติทั้งหลายในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม เพราะเมื่อวานนี้ ค่าเงินหยวนกลับลดต่ำลงอย่างหนัก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 6.6857 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่งเลยทีเดียว

แม้ค่าเงินหยวนจะทำให้ตลาดหุ้นจีนผันผวนตลอดการซื้อขายวานนี้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ตลาดหุ้นจีนกลับเริ่มแยกแยะออกมากขึ้นว่า ความแปรปรวนของค่าเงิน กับราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเถรตรงเสมอไป

ผลลัพธ์จากวุฒิภาวะที่สูงขึ้นของนักลงทุนในตลาดหุ้นจีน ทำให้เมื่อถึงตอนปิดตลาดหุ้นวานนี้ดัชนี SSEC ของตลาดเซี่ยงไฮ้ปิดลบไปเพียงแค่ 0.44 จุดหรือแค่ 0.01% เท่านั้น ไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ทางด้านนักลงทุนทั่วโลกก็มีวุฒิภาวะสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน เพราะในตลาดหุน้ทั่วโลก กลับเฉยเมยต่อความผันผวนของค่าเงินหยวนเสียอย่างนั้น ไม่มีการขายหลักทรัพย์ทิ้งเพื่อมาซื้อทองคำอย่างตื่นตระหนก แบบที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมกราคมอีกต่อไป

ตรงกันข้าม ตลาดหุ้นทั่วโลก ต้อนรับการอ่อนค่าแรงของเงินหยววนเมื่อวานนี้ ด้วยอารมณ์สงบนิ่ง และปรับสภาพของการลงทุนไปตามภาวะอย่างมีจังหวะก้าว ไม่ลนลานเหมือนในหลายเดือนก่อน

คำอธิบายที่สมเหตุสมผลมากที่สุดในยามนี้ถึงวุฒิภาวะที่สูงขึ้นของนักลงทุนต่อการร่วงของของหยวนคราวนี้ อยู่ที่ว่า หลายเดือนมานี้ บรรดาผู้บริหารของธนาคารกลางและกระทรวงการคลังจีน มีความชำนาญและเรียนรู้วิธีการสื่อสารกับนักลงทุน “ขาใหญ่” ทั้งหลายทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจว่าแต่ละย่างก้าวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับค่าเงินหยวนหรือนโยบายทางการเงินที่โยงเข้ากับอัตราแลกเปลี่ยน มีที่มา หรือทิศทางอย่างไรบ้าง

ความพยายามสื่อสารที่ดีดังกล่าว ด้วยเป้าหมายเพื่อลด “ความเสียหายที่เกิดโดยไม่เจตนา” (collateral damage) ทำให้ตลาดสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีจังหวะจะโคน ไม่ตื่นตระหนกมากเกินเพราะหวั่นกลัวความไม่แน่นอน จึงเป็นการบริหารวิกฤตที่ได้ผลจริงจัง

อย่างน้อยที่สุด คนที่ถือหยวนอยู่ ก็จะเข้าใจดีว่า ไม่จำเป็นต้องลนลานทิ้งเงินหยวนเพื่อไปถือเงินสกุลอื่นอย่างบ้าคลั่ง เพื่อทำให้เงินหยวนพังลงไปมากขึ้นจนเกินจะควบคุมได้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า เงินหยวนที่ร่วงลงนี้ เป็นสถานการณ์ชั่วขณะที่ไม่ยาวนนานอะไรเลย เนื่องจากหยวนจะกลับมาแข็งแกร่งในเวลาอีกไม่นาน การถือเงินหยวนเพิ่มในยามที่อ่อนค่าต่างหากเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง

การอ่อนค่ารุนแรงของหยวนเมื่อวานนี้ จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่ดีเกี่ยวกับการบริหารจัดการความสัมพันธ์ของค่าเงินที่แปรปรวน และการไหลเข้าออกของทุนที่โยงใยเข้าด้วยกัน เมื่อปล่อยค่าเงินลอยตัวมากยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแค่จีน แต่ยังหมายรวมถึงชาติอื่นๆ ด้วย

ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลจีนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายมากคือ ยิ่งเงินหยวนมีฐานะเป็นเงินสากลมากขึ้นเท่าใด (ไม่ว่าจะขึ้นหรีอลง) ก็มีผลให้สัดส่วนของมูลค่าการลงทุนของต่างชาติในจีน เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ จะสามารถรักษาฐานะเป็นศูนย์กลางตลาดเงินและตลาดทุนของโลกมากขึ้น

Back to top button