แผลเก่าต้มยำกุ้งขี่พายุ ทะลุฟ้า
ใครลืมไปแล้ว ก็ขอเตือนความทรงจำกันใหม่ว่า หนี้สินประเทศอันเกิดแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 น่ะ ไม่ใช่มีหนี้ไอเอ็มเอฟ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์เพียงก้อนเดียว ที่ใช้หมดไปในเวลาแค่ 2 ปีนะครับ
ชาญชัย สงวนวงศ์
ใครลืมไปแล้ว ก็ขอเตือนความทรงจำกันใหม่ว่า หนี้สินประเทศอันเกิดแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 น่ะ ไม่ใช่มีหนี้ไอเอ็มเอฟ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์เพียงก้อนเดียว ที่ใช้หมดไปในเวลาแค่ 2 ปีนะครับ
แต่ยังมีหนี้อีกก้อนหนึ่งของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อันเป็นหนี้ที่เกิดจากการเยียวยาผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิด จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งผมถือว่า แก้ปัญหาได้อย่างล้ำเลิศที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของชาติที่ผ่านมา
วิกฤตเงินกู้จุกอกก้อนนี้ ไม่มีทางออกมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว จนกระทั่งมาถึงมือม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทักษิณ ชินวัตรให้มาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติในปี 2544
“หม่อมอุ๋ย” ก็พยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยการแบ่งแยกความรับผิดชอบในหนี้ก้อนนี้อย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ…
กำหนดให้แบงก์ชาติรับผิดชอบหนี้เงินต้น และรัฐบาลรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ย
ก็ดูเหมือนดีนะครับ แบงก์ชาติซึ่งมีฝ่ายกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน แต่กำกับกันอย่างไรไม่รู้ ปล่อยให้สถาบันการเงินล้มระเนนระนาด จึงควรต้องรับหนี้ก้อนใหญ่คือหนี้เงินต้นไป
ส่วนรัฐบาลผู้รับผลพวงจากการทำงานอันหละหลวมของแบงก์ชาติ ก็ควรจะรับหนี้แค่จิ๊บๆ ในส่วนของดอกเบี้ย
แต่ที่ไหนได้ครับ แบงก์ชาติไม่ได้จ่ายหนี้เงินต้นสักบาทเดียว เพราะมีกฎหมายของแบงก์ชาติเอง ล็อคห้ามเอาไว้ไม่ให้จ่ายเงินชำระหนี้ในปีที่มีผลดำเนินงานขาดทุน
แบงก์ชาติก็มีผลดำเนินงานขาดทุนมาตลอดล่ะครับ หนี้เงินต้นที่ตั้งเอาไว้ 1.1 ล้านล้านบาท ก็ไม่ได้ลดราวาศอกลงมาสักบาท
รัฐบาลก็ต้องตั้งเป็นงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยไปปีละ 5-6 หมื่นล้านบาทสิครับ
เป็นอย่างนี้มาประมาณ 10 ปี รัฐบาลก็ตั้งหน้าตั้งตาปั๊มเงินจ่ายดอกเบี้ยไป 5-6 แสนล้านบาทเห็นจะได้ ตะบี้ตะบันจ่ายแต่ดอกกันอยู่นั่นแหละ โดยไม่เห็นแสงสว่างว่า เมื่อไหร่จะล้างหนี้เงินต้นได้
รัฐบาลในยุคยิ่งลักษณ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ชื่อกิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็เลยตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้พ.ศ. 2555
เที่ยวนี้ย้ายภาระเงินกู้ทั้งต้นและดอกไปให้แบงก์ชาติรับผิดชอบแต่ผู้เดียวไปเลย
โดยเครื่องมือที่ให้ไปก็คือ ดอกผลอันเป็นเงินได้จากกองทุนฟื้นฟูฯ และเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของยอดเงินฝาก จากยอดเงินเต็ม 0.5% ที่ต้องนำส่งเข้าสถาบันประกันเงินฝาก
รัฐบาลในขณะนั้น ประเมินแล้วว่า ยังไม่มีสถานการณ์วิกฤตในระบบสถาบันการเงิน จึงได้ขอปันส่วนมาแก้ปัญหาหนี้สินของชาติ ที่เป็นทางตันมาตลอด 10 ปี
จากนั้นก็คลี่คลาย กองทุนฟื้นฟูฯมีเงินมาชำระหนี้ได้ประมาณเดือนละ1หมื่นล้านบาทเศษบวก-ลบ
จากยอดหนี้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 55 จำนวน 1,138,306 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 ปี 3 เดือน กองทุนฟื้นฟูฯสามารถชำระหนี้ได้รวมทั้งสิ้น 165,153 ล้านบาท
ส่งผลให้เหลือหนี้เงินต้นคงค้างอยู่แค่ 973,154 ล้านบาท
ยังเหลือระยะทางแห่งการชำระหนี้อีกยาวไกลก็จริง คงไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับต่อจากนี้กระมัง
แต่ก็ยังดี ที่พอจะได้เห็นวันว.เวลาน.ของการสะสางบาดแผลเก่า ที่ค้างคามาเกือบ 20 ปีเห็นจะได้
ไม่ต้องหาเงินก้อนโตมาแก้ปัญหา ใช้แค่สติปัญญา และก็ไม่สร้างภาระตกทอดมายังรัฐบาลรุ่นน้องในภายหลังแต่ประการใด