โตโยต้า เสียศูนย์พลวัต 2016
รัฐมนตรีอุตสาหกรรม นาง อรรชกา สีบุญเรือง พูดถ้อยคำเสาะหูยิ่งเมื่อบอกว่า การที่ค่ายรถยนต์โตโยต้า (ประเทศไทย) ลดจำนวนคนงานตามโครงการสมัครใจลาออก เป็นผลจากโครงการรถยนต์คันแรก
วิษณุ โชลิตกุล
รัฐมนตรีอุตสาหกรรม นาง อรรชกา สีบุญเรือง พูดถ้อยคำเสาะหูยิ่งเมื่อบอกว่า การที่ค่ายรถยนต์โตโยต้า (ประเทศไทย) ลดจำนวนคนงานตามโครงการสมัครใจลาออก เป็นผลจากโครงการรถยนต์คันแรก
ถ้าคิดอย่างผิวเผินนี่คือ “การปัดสวะ” อีกครั้งของรัฐบาลปัจจุบันที่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นต้องโยนให้รัฐบาลก่อนรับไปทุกที
ในทางกลับกัน นี่อาจจะเป็นข้อสรุปที่ถูกต้อง ที่มีการใช้คำสื่อสารผิดพลาดเท่านั้น
ข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ บริษัท โตโยต้า (ประเทศไทย) ได้ทำโครงการเลิกจ้างพนักงานเหมาค่าแรง จาก 3 โรงงานในไทยกว่า 1 พันคน โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ตามอายุงานของพนักงาน
กระบวนการเลิกจ้าง หรือคำสวยหรูว่าลาออกโดยสมัครใจ ระบุว่าพนักงานซึ่งมีอายุงานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป พร้อมจะจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน
การตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานในไทยเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งโรงงานของโตโยต้าในไทยคราวนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่คำอธิบายยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดฉันทามติจนคลายข้อสงสัยได้
เหตุผลของทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ชี้แจงกรณีโครงการดังกล่าวว่า เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังชะลอตัว และภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออก ทำให้ต้องปรับลดกำลังผลิตลง โดยหากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ดีขึ้น ยินดีรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก และยังมีความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพจะเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป เป็นแค่ถ้อยคำสวยหรูตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น ไม่ได้บอกอะไรชัดเจน
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าทำไมต้องเป็นเฉพาะโตโยต้า ซึ่งมีกำลังการผลิต และยอดขายสูงที่สุดของไทย ไม่เป็นค่ายรถยนต์อื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า
มองทีละประเด็นก่อน
การปลดคนงานของโตโยต้า แม้ไม่เกิดขึ้นบ่อยในโลกนี้ และไม่เคยเกิดขึ้นเลยในไทย สะท้อนว่าระบบการจ้างงานของโตโยต้า เปลี่ยนไปจากจารีตบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในอดีตอย่างมาก คำถามคือเกิดขึ้นกับโตโยต้าที่เดียวหรือเป็นการปฏิบัติทั่วไป
คำตอบคือเป็นวัตรปฏิบัติทั่วไปของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ “ปฏิวัติการจ้างงานปลายปี 2537” เป็นต้นมา หลังจากฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นแตกเมื่อกว่า 20 ปีก่อน
โตโยต้า เป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น ได้เริ่มนำเอาประกาศระบบการจ้างงานระยะสั้นในบางแผนกมาใช้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตแบบใหม่ที่เรียกว่า Lean Production System มาใช้
เป้าหมายของการปรับปรุงระบบการผลิตดังกล่ว คือการปฏิรูปกระบวนการผลิตจาก mass production มาเป็น speed-based production เพื่อรองรับความหลากหลายของพฤติกรรมผู้บริโภค
การตลาดแบบใหม่ ที่เน้นความยืดหยุ่นของสายการผลิตสินค้าสนองตอบตลาดเป้าหมายเฉพาะ เรียกร้องให้ กระบวนการจ้างงานรูปแบบใหม่ของญี่ปุ่นจากระบบจ้างงานตลอดชีพ มาเป็นการจ้างงานระยะสั้นในบางแผนกแทน เป็นการเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน
พนักงานที่ได้รับการว่าจ้างระยะสั้นจะได้รับการพิจารณาต่อสัญญาโดยพิจารณาจากผลงานเป็นสำคัญ
คำถกเถียงว่าระบบจ้างงานแบบใหม่กับแบบเดิมของญี่ปุ่นเป็นที่ยืดยาวต่อมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนคำประกาศนี้นับเป็นการปรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเลยทีเดียว แต่ที่แน่นอนคือ มันได้ลดทอนความเชื่อเก่าแก่ที่ว่า การว่าจ้างพนักงานแบบชั่วชีวิตของบริษัทญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน โดยที่ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจำนวนมากมองว่า แต่ระบบจ้างงานแบบนี้กลับเป็นตัวที่ถ่วงความเจริญของบริษัทในยุคร่วมสมัย
กรณีของไทย มีการเสริมข้อมูลจากคนนอกเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจของโตโยต้าในการเลิกจ้างครั้งนี้ อาจจะไม่ได้มาจากยอดขายตกต่ำลงเพราะภาวะเศรษฐกิจ แต่เกิดจากบริษัทต้องการนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้แทนมนุษย์ ซึ่งลงทุนวิจัยไป 1,000,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐทั่วโลกมาใช้ในไทยด้วย โดยจะนำเทคโนโลยีมาแทนมนุษย์ทั้งในโรงงาน และแทนคนที่ศูนย์บริการด้วย
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอ้างสาเหตุว่าต้องการย้ายฐานผลิตบางส่วนไปยังชาติในกลุ่มอาเซียนแทนไทย
คำอธิบายทั้งสองอย่างไม่เพียงพอ หากมองจากมุมของทั้งโตโยต้าในระดับโลก และในไทยประกอบกัน
ในระดับโลก โตโยต้าเผชิญแรงกดดันหลากหลายมาก จนกระทั่งยอดขายล่าสุดได้สูญสิ้นส่วนแบ่งการตลาดระดับโลกที่เคยครองอันดับหนึ่งมาติดต่อกันมากกว่า 5 ปีลงไป ให้กับค่ายรถยนต์โฟล์กสวาเกนของเยอรมนีในปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ค่ายดังกล่าวก็มียอดขายลดลงจากเรื่องอื้อฉาวเรื่องโกงระบบไอเสียจากเครื่องยนต์รุนแรง
การตกลงเป็นอันดับสองของค่ายรถยนต์โลกเป็นความเสียหายด้านตราสินค้าที่สำคัญยิ่งของโตโยต้า ทำให้จำต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนคิด และการทำงานใหม่อีกครั้ง ระบบการจ้างงานเป็นส่วนย่อยของกระบวนการทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น
ส่วนในไทยเอง นับแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศของโตโยต้าในไทยลดลงอย่างรุนแรงนับแต่รถคันแรก เพราะยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ของรัฐบาลไทยมาแต่ต้น ทำให้ค่ายรถยนต์อื่นฉกฉวยโอกาสจากโครงการรถคันแรกไปอย่าง “คว้าชิ้นปลามัน”
การเสียศูนย์ครั้งสำคัญในปี 2555 แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้โตโยต้าเสียหายทั้งระบบโดยรวม แต่การพ่ายแพ้ยอดขายรถยนต์นั่งต่ำกว่าค่ายฮอนด้าเป็นครั้งแรก ทำให้ถึงขั้นมีการเรียกตัวผู้จัดการใหญ่โตโยต้าเมืองไทยสมัยนั้นกลับประเทศญี่ปุ่นเพื่อลงโทษที่ทำให้บริษัทต้อง “อัปยศ” กันอย่างกะทันหันชนิดฟ้าผ่าเลยทีเดียว
แม้ว่าต่อมา โตโยต้าโดยผู้บริหารใหม่จะพยายามเรียกคืนยอดขายและส่วนแบ่งในตลาดกลับคืนมา แต่ดูเหมือนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก จนกระทั่งต้นปีนี้ เริ่งมีสัญญาณชัดเจนว่า โตโยต้าไทยสูญเสียฐานะนำในตลาดทั้งรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพขนาด 1 ตันให้กับคู่แข่งไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่ายอดการขายรวมทุกชนิดทุกรุ่น จะยังคงเป็นอันดับหนึ่งต่อไป
ความสามารถที่ถดถอยลงของฐานะนำทางการตลาด (marketing hegemony) เป็นเรื่องใหญ่ และเรียกร้องให้การปรับปรุงแนวคิดทั้งระบบเกิดขึ้น เพื่อกลับมาทวงคืนความสามารถครอบงำทางการตลาดที่โตโยต้าเคยโดดเด่นเหนือคู่แข่งกลับมาให้ได้
เส้นทางนี้ ไม่ง่าย แต่ไม่ยาก เพียงแต่ต้องผ่านความเจ็บปวดในหลายเรื่องจากภายในและภายนอก
แม้ว่าเบื้องหลังของการเลิกจ้างงานชั่วคราวคนงานไทยกว่า 1 พันคน ยังเป็นปริศนาในเชิงการบริหารจัดการและยุทธศาสตร์ของบริษัทโตโยต้าทั้งในไทย และบริษัทแม่ในญี่ปุ่น แต่การปรับตัวนี้ มีคุณค่าที่น่าติดตาม มากกว่าข้อสรุปสั้นๆ ที่มีกลิ่นอายทางการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ที่หยาบกระด้างว่า เป็นเหตุจากเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ หรือเพราะว่าจะเลิกจ้างคน แล้วหันมาใช้ระบบออโตเมชั่นแทน
การแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์โชกโชนอย่างโตโยต้านั้น อาจจะไม่เหมือนกรณีของ โนเกียของฟินแลนด์ หรือ แอปเปิล อิงค์ของสหรัฐฯ หรือ ซอฟท์แบงก์ของญี่ปุ่น หรือ HSBC ของอังกฤษ แต่เชื่อได้เลยว่า สิ่งใหม่จะต้องเกิดขึ้นจากการดิ้นรนเพื่อการเปลี่ยนแปลง
เพียงแต่จะสำเร็จหรือล้มเหลว ยังไม่อาจคาดเดาล่วงหน้า เพราะบางที คนบัญชา อาจจะไม่สู้ฟ้าลิขิต ก็ได้