SMART เผย H2/59 ฟื้นตัว ออร์เดอร์ทะลัก-อัตรากำไรขั้นต้นดี รุกขยายตลาดตปท.
SMART เผย H2/59 ฟื้นตัวออร์เดอร์ทยอยเข้าเพิ่ม อัตราส่วนกำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น เดินหน้ารุกขยายตลาดต่างประเทศ
นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ทคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ SMART เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเดินหน้าเพิ่มออร์เดอร์จากงานโครงการทั้งเอกชนและภาครัฐ ซึ่งในช่วงต้นไตรมาส 3/59 บริษัทได้เข้าเสนองานพร้อมทั้งแนะนำผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ กับโครงการหลายแห่ง และเริ่มมีออร์เดอร์ใหม่บางส่วนเข้ามาแล้ว ขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ SMART LINTEL คานทับหลังสำเร็จรูป และสมาร์ทมิติบล็อค ผลิตภัณฑ์ผนังตกแต่ง เริ่มมีคำสั่งซื้อจากโครงการในภาคตะวันออกและลูกค้ารายย่อยมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบาในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับฟื้นตัว จากการที่ภาครัฐเริ่มทยอยลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กลับมาลงทุนในโครงการใหม่มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาเริ่มมีสัญญาณลดความรุนแรงลง และส่งผลให้ราคาจำหน่ายอิฐมวลเบาน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับราคาวัตถุดิบบางส่วนมีราคาสูงขึ้นตาม คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน
โดยบริษัทยังเดินหน้ารุกตลาดกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มากขึ้น โดยเฉพาะกัมพูชาที่ตลาดขยายตัวค่อนข้างมาก จึงมีแผนเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้ครอบคลุมความต้องการใช้งานมากขึ้น ปัจจุบันก็มีออเดอร์สินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดในประเทศลาว พม่า เวียดนาม บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าไปทำตลาดโดยให้ความรู้ด้านคุณภาพการใช้งานและคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ กับกลุ่มผู้ประกอบดารด้านก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นมา 3-4 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อนึ่ง SMART รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2/59 ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 75.149 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 83.323 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 12.32 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมีผลขาดทุนสุทธิ 3.84 ล้านบาท
ขณะที่ ผลประกอบการงวดครึ่งแรกปี 59 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 152.274 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 169.736 ล้านบาท เนื่องจากการชะลอตัวของโครงการภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ เช่นในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัท ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่โฟกัสตลาดนี้ เข้ามาแข่งขันด้านราคา ทำให้ราคาจำหน่ายอิฐมวลเบามีการปรับตัวลดลง ส่งผลให้กำไรขั้นต้นมีการปรับตัวลดลงและเกิดเป็นขาดทุนสุทธิจำนวนดังกล่าว