SCI คาดกำไร Q2 ฟื้นตัว พร้อมส่งบริษัทร่วมทุนเข้าตลาดฯปี63
SCI คาดกำไร Q2/60 ฟื้นตัว หลัง Q1 ขาดทุน รุกขยายตลาดในลาว-เมียนมา-เขมร พร้อมส่งบริษัทร่วมทุน “ที ยูทิลิตี้ส์” เข้าตลาดหุ้นปี 63
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/60 จะมากกว่าช่วงไตรมาส 1/60 ที่มีกำไรสุทธิ 6.26 ล้านบาท หลังคาดว่าจะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนลดลงเหลือเพียงเล็กน้อย จากไตรมาส 1/60 มีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 20 ล้านบาท เนื่องจากการรับรู้รายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2 ชะลอออกไปเพื่อรอการปรับขนาดสายส่งไฟฟ้า ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
“ช่วงไตรมาส 2/60 รายได้เราก็จะน้อยกว่าช่วงไตรมาส 1/60 ที่มีรายได้ 590.56 ล้านบาท เนื่องจากจะไม่รับรู้รายได้จากงานใน สปป.ลาว เพราะทางการลาวจะปรับขนาดสายไฟฟ้าที่ใช้ให้ใหญ่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังสามารถรับรู้รายได้จากงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในประเทศที่เริ่มรับรู้รายได้แล้วในช่วงไตรมาส 2/60″นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับผลประกอบการทั้งปีนี้ยังมั่นใจว่าจะเติบโตได้อย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 1.97 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 162.52 ล้านบาท เนื่องจากการได้รับงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 850 ล้านบาท
โดยจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/60 เป็นต้นไป และยังจะมีงานเสาส่งสื่อสารโทรคมนาคมของภาคเอกชนที่จะออกมาจำนวนมาก ทั้งในส่วนของ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ,บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด ในปีนี้บริษัทเจรจาเพื่อที่จะได้เป็นตัวแทนจำหน่ายผู้ผลิตจากสหภาพยุโรป 1 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ใดเลย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันเรื่องราคา และงานส่วนใหญ่ต้องมีใบอนุญาต (license) ทำให้ที่ผ่านมามียอดขายไม่มากนัก แต่หากได้เป็นตัวแทนจำหน่ายก็จะสามารถเพิ่มยอดขาย ช่องทางการจัดจำหน่าย และสามารถแข่งขันได้มากขึ้นด้วย
ส่วนของงานในลาวนั้น ปัจจุบันมีงานในมืออยู่ 416 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.45 หมื่นล้านบาท โดยในปีก่อนรับรู้รายได้เข้ามา 4-5% จากมูลค่างานทั้งหมด และในช่วงไตรมาส 1/60 รับรู้รายได้เข้ามาราว 2% แต่ในช่วงไตรมาส 2/60 นั้นจะไม่มีการรับรู้รายได้เนื่องจากงานก่อสร้างได้ชะลอออกไป หลังทางการลาวจะปรับขนาดสายส่งไฟฟ้าให้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของโครงการส่วนที่เหลือเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ราว 15% ขณะที่คาดว่าจะเริ่มกลับดำเนินโครงการต่อได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ หลังจากการปรับแบบของสายส่งไฟฟ้าของทางการลาวแล้วเสร็จ บริษัทก็คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาโครงการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงอีก 1 โครงการ มูลค่า 306 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปีนี้ เพราะทางการลาวต้องการสร้างสายส่งไฟฟ้าให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 63-68 จำนวนกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากงานในลาวแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการเข้าเจรจาเพื่อรับเหมางานติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยเริ่มจากในเมียนมาที่เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และบริการชุบกัลวาไนซ์ (สังกะสี) กำลังการผลิต 7,500 ตัน/ปี จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/61 ซึ่งปัจจุบันเมียนมามีโครงการลงทุนระบบไฟฟ้าแรงสูงระยะทาง 100 ไมล์ที่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจากับรัฐบาลเมียนมา จะเห็นความชัดเจนอย่างเร็วในปี 61
นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าไปเจรจากับภาครัฐของกัมพูชา เพื่อหาแนวทางการลงทุนระบบไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ โดยอาจจะเป็นการลงทุนจากภาครัฐเอง หรือหาภาคเอกชนเข้าไปลงทุน คาดว่าจะสรุปได้อย่างเร็วในช่วงปี 61
“งานใน สปป.ลาว เราก็ยังคงเดินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะเวลาอีก 3-4 ปีข้างหน้างานจะน้อยลงเพราะสายส่งขนาดใหญ่ ๆ เราก็เข้าไปทำหมดแล้ว ตัวเราเองก็ไม่ได้หยุดที่จะหางานใหม่ ๆ ตอนนี้เราก็เข้าไปพูดคุยรัฐบาล หาพาร์ทเนอร์ที่ดี เพื่อที่จะรองรับการเข้าไปรับงานในเมียนมา และกัมพูชา เพื่อที่จะให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นด้วย แต่ก็คงจะไม่ได้เร็วนักคงต้องใช้เวลาบ้าง อย่างเร็วก็คงเป็นปี 61″นายเกรียงไกร กล่าว
ขณะที่บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำให้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปี 63 จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่ถึง 1% โดยการลงทุนผ่าน บริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF อยู่ระหว่างรอความชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนให้บริการด้านสาธาณูปโภคใน 5 จังหวัด หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 12 แห่งเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน กำลังการผลิตรวม 25 เมกะวัตต์ มีอัตราผลตอบแทน (IRR) ที่ 11-14% และใช้งบลงทุนราว 30-32 ล้านบาท/เมกะวัตต์ คาดว่าจะรับรู้รายได้ทันภายในปีนี้
นอกจากนี้ TU ยังมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับพลังงานทดแทนอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่คาดว่าภาครัฐจะเปิดให้ยื่นคุณสมบัติในช่วงปลายปีนี้ 100-300 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
ทั้งนี้ หลังจากการลงทุนโครงการต่าง ๆ เข้ามาแน่นอน บริษัทและ PF ก็มีแผนจะนำ TU เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 63 เพื่อระดมทุนมาขยายกิจการอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ
“อนาคตเราก็อยากจะมีรายได้ที่เป็นรายได้ประจำเข้ามามากขึ้น เพื่อที่จะให้ผลประกอบการมีเสถียรภาพ ซึ่งเราก็ได้บุคลากรที่มีความสามารถในสายงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมทำงานกับเรา ก็ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่เราวางแผนไว้”นายเกรียงไกร กล่าว