ก.พาณิชย์ตอกคว่ำ “วิชัย IFEC” แต่ยังเปรี้ยวฟ้อง “ข่าวหุ้น” 50ล้านบาท!

“เม้ง” เฮี้ยนหนัก! หายหัวไปนานโผล่มาอีกรอบ ยื่นฟ้อง “ข่าวหุ้นธุรกิจ” 50 ล้านบาท อ้างถูกใส่ความจนชาวบ้านเหม็นขี้หน้าร้องยี้กันทั้งเมือง ปัดใช้เล่ห์เพทุบายเลือกตั้งกรรมการจนมีชัยเหนือผู้ถือหุ้นใหญ่ ตะแบงสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว วงการงง! พูดเฉยข้อบังคับบริษัทที่ตัวเองเซ็นกับมือผิดกฎหมาย ยืนหยัด “ลงคะแนนแบบสะสม” มีความชอบธรรม ฟากกระทรวงพาณิชย์ตอกหน้าหงาย “ไม่รับฟอกขาวบอร์ดเถื่อน”!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ” ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2275/2560 ต่อศาลอาญา โดยระบุข้อหาหรือฐานความผิด “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”

โดยจำเลยในคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท บูรพาทัศน์ (1999) จำกัด นิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ฯ เป็นจำเลยที่ 1 นายประวิทย์ อริยวงศานุกูล กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็นจำเลยที่ 2 นายสืบศักดิ์ ปลื้มจิตต์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็นจำเลยที่ 3 นายชาญชัย สงวนวงศ์ ผู้อำนวยการ/ผู้เขียนบทความ เป็นจำเลยที่ 4 และนายเกษตร ศิวะเกื้อ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เป็นจำเลยที่ 5

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า เมื่อประมาณวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2560 จำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันตีพิมพ์ข้อความใส่ความ นายวิชัย ผ่านคอลัมน์ “ขี่พายุ ทะลุฟ้า” ตอน “ดองไอเฟคจนกลายเป็นไอเฟอะ” ซึ่งนายชาญชัย จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 7-อาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม 2560 โดยมีข้อความใส่ความหมิ่นประมาทนายวิชัยตามคำฟ้อง ดังต่อไปนี้

นายชาญชัยเขียนลงในคอลัมน์ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งระบุว่า “ไม่เห็นหุ้นอะไรเลอะเทอะเช่นนี้ จากไอเฟคจะเรียกว่าไอเฟอะก็คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก”

“ปมปัญหาก็คือ ผู้ถือหุ้นข้างน้อย ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ อันเป็นกฎกติกาสากลและประเพณีจารีตอันดีงามในตลาดทุน

“กลับใช้วิธีการอันผิดกฎหมายและผิดกฎข้อบังคับบริษัทที่ตนเป็นผู้ลงนามเอง ลายเซ็นชื่อนพ.วิชัย ปรากฏหรา แต่ทั้งที่รู้ทั้งรู้ก็ยังใช้วิธีโหวตเลือกบอร์ดแบบสะสม (Cumulative Voting) แทนการนับแบบวันแชร์วันโหวตในรายชื่อเสนอบอร์ดแต่ละราย

“ต้องใช้การประชุมผู้ถือหุ้นถึง 3 ครั้ง ประธานบอร์ดก็ใช้เล่ห์เพทุบายโหวตแบบสะสมอยู่นั่นแหละ สิ่งประหลาดจึงได้เกิดขึ้นในบริษัทนี้ คือผู้ถือหุ้นข้างน้อย กลับใช้อำนาจประธานบอร์ดที่ไม่ชอบธรรม ผลักดันให้พวกตัวเองมีที่นั่งมากกว่าผู้ถือหุ้นข้างมาก”

ด้านนายวิชัย ได้มีการกล่าวอ้างตามคำฟ้อง โดยระบุว่า ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับรู้ข้อมูลเข้าใจว่าตน ในฐานะประธานบอร์ด IFEC และเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (รายใหม่) และยังได้ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย และผิดกฎข้อบังคับของบริษัทฯที่ตนเป็นผู้ลงนามด้วย

ขณะเดียวกันการที่นายชาญชัยเขียนข้อความว่าตน “ใช้เล่ห์เพทุบาย หรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมผลักดันให้พวกของตน” นั้นแสดงให้เห็นว่า ตนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือกฎหมาย แต่ใช้เล่ห์เพทุบายอันเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ชอบธรรมเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้ได้กรรมการที่เป็นคนของตน โดยไม่สนใจกฎหมายหรือวิธีการอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นความเท็จ

ทั้งนี้ มีการระบุในเอกสารคำฟ้องโดยอ้างว่า ความจริงในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ได้มีการขอมติที่ประชุมฯเพื่อหาวิธีการเลือกตั้งกรรมการเข้าใหม่ โดยขั้นตอนดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อที่ 20 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 70

โดยข้อบังคับบริษัทฯข้อที่ 20(1) ระบุว่า หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการ ให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง (มักถูกเรียกว่า การลงคะแนนแบบหนึ่งหุ้นหนึ่งเสียง หรือ One Share One Vote) และข้อที่ 20(2) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้

ขณะที่ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ มาตรา 70(1) ระบุว่า เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการ ให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือคูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้ง (มักเรียกกันว่า การลงคะแนนแบบสะสม หรือ Cumulative Voting)

โดยที่มาตรา 70(2) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ ในกรณีที่เลือกตั้งบุคคลหลายคนเป็นกรรมการจะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดก็ได้

ส่วนในกรณีที่บริษัทมีข้อบังคับกำหนดวิธีการเลือกกรรมการไว้เป็นอย่างอื่น ข้อบังคับนั้นจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิผู้ถือหุ้นในการลงคะแนนเลือกกรรมการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่า ตามข้อบังคับและข้อกฎหมาย การลงคะแนนแบบสะสม สามารถกระทำได้เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการตามข้อบังคับที่ 20(1) ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบหนึ่งหุ้นหนึ่งเสียง ขัดต่อพ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ มาตรา 70(1) ซึ่งเป็นการลงคะแนนแบบสะสม

โดยบทสรุปนี้ถือว่า เป็นไปตามข้อบังคับที่ 61 ซึ่งกำหนดให้บรรดาระเบียบหรือคำอนุมัติที่ที่ประชุมฯจะบังคับได้ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด อีกทั้งข้อบังคับดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการตัดสิทธิผู้ถือหุ้นในการลงคะแนนเลือกกรรมการด้วย

ต่อมา ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในวาระที่ 2 เรื่องเลือกตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนกรรมการที่ครบวาระ ได้มีการนำวิธีการลงคะแนนตามที่ที่ประชุมวิสามัญฯ ครั้งที่ 2/2560 มาใช้เช่นเดียวกัน คือ การลงคะแนนแบบสะสม

โดยในบทสรุป นายวิชัยกล่าวอ้างตามเอกสารคำฟ้องว่า การลงคะแนนแบบสะสมมิใช่เป็นการใช้เล่ห์เพทุบายหรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมตามที่จำเลยทั้ง 5 กล่าวหา แต่เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ดีโดยเฉพาะการเลือกตั้งกรรมการซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมแต่งตั้งกรรมการเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตน

การออกเสียงแบบสะสมจึงอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นสามารถออกเสียงของตนทั้งหมดหรือบางส่วนให้กรรมการคนเดียวหรือบางคนหรือกรรมการทั้งหมด เพื่อให้ได้กรรมการตามสัดส่วนมิใช่ให้กรรมการผูกขาดของผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากซึ่งจะเป็นการผูกขาดและไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย

ดังนั้น พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน ตนจึงไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของ IFEC หรือพ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ หากแต่เป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับและข้อกฎหมาย

ขณะที่การใส่ความโดย “หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ” ส่งผลให้ตนได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากประชาชนที่ได้อ่านข้อความตามที่มีการพิมพ์โฆษณา ซึ่งหนังสือพิมพ์ของจำเลยถือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ นายวิชัยได้ระบุคำขอท้ายคำฟ้องอาญาว่า การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่า เป็นความผิดต่อกฎหมาย และบทมาตราดังนี้ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 326, 328, 332 และขอให้ศาลออกหมายเรียกและนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้

1.ให้ยึดหรือทำลายนสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจในส่วนที่มีการพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาทตน 2.ให้ลงประกาศคำพิพากษาของศาลทั้งฉบับในหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับ รวมทั้งนสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3.ให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และ 4.ให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนตนทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ล่าสุด นางสาวสุธินันท์ ชาญปรีชา นายทะเบียน ส่วนจดทะเบียนบริษัทมหาชน และธุรกิจพิเศษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีคำสั่งไม่รับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทของ IFEC ซึ่งได้มีการยื่นไว้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม และวันที่ 20 มิถุนายน 2560

โดยนายทะเบียนได้พิจารณาแล้วว่า การที่ IFEC ได้กำหนดข้อบังคับของบริษัทฯเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการ โดยให้ผู้ถือหุ้นหนึ่งคน มีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง และผู้ถือหุ้นแต่ละคนนั้น จะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดเลือกตั้งบุคคลคนเดียว หรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้

ดังนั้น บริษัทฯจึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการลงคะแนนเลือกกรรมการในการประชุมสามัญฯครั้งที่ผ่านมาที่ถูกนำมาใช้ คือ การลงคะแนนแบบสะสม ถือว่า “ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อที่ 20 และมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายวิชัยเป็นผู้ลงนามในข้อบังคับของบริษัทฯด้วยตนเองจริง ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ IFEC ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 โดยมีนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ร่วมลงนามด้วย

Back to top button