สุทธิชัย หยุ่น และพวก : เรือล่มเมื่อจอด

แม้ว่าบุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ทั้ง 9 ราย นำโดยนาย สุทธิชัย (แซ่) หยุ่น จะชิงลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในเครือ NMG ไปแล้ว แต่ "วีรเวร" ที่พวกเขาสร้างไว้ให้จารึกในกรณีละเมิดหลักการธรรมาภิบาล และกฎหมายบริษัทมหาชนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ยังไม่สิ้นสุดกรรมจนเบ็ดเสร็จ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

แม้ว่าบุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ทั้ง 9 ราย นำโดยนาย สุทธิชัย (แซ่) หยุ่น จะชิงลาออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในเครือ NMG ไปแล้ว แต่ “วีรเวร” ที่พวกเขาสร้างไว้ให้จารึกในกรณีละเมิดหลักการธรรมาภิบาล และกฎหมายบริษัทมหาชนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 ยังไม่สิ้นสุดกรรมจนเบ็ดเสร็จ

วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษา กรณีนายสุทธิชัย (แซ่) หยุ่น และพวกรวม 9 ราย ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 นายณิทธิมณ หัสดินทร ณ อยุธยา, จำเลยที่ 2 นายปกรณ์ บริมาสพร, จำเลยที่ 3 นายเชวง จริยะพิสุทธิ์, จำเลยที่ 4 นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ, จำเลยที่ 5 นางสาวเขมกร วชิรวราการ, จำเลยที่ 6 นายพนา จันทรวิโรจน์, จำเลยที่ 7 นางสาวดวงกมล โชตะนา, จำเลยที่ 8 นายเสริมสิน สมะลาภา และจำเลยที่ 9 นายสุทธิชัย (แซ่) หยุ่น ตามคำฟ้องของโจทก์ คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 4)

บทสรุปของคำพิพากษา (ชั้นต้น) คือบุคคลทั้ง 9 กระทำการ “ไม่สุจริต” กรณีกีดกันผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี 2558 ถูกศาลสั่งปรับคนละ 5 แสนบาท เพราะ….กระทำการด้วยการขาดความรับผิดชอบและความระมัดระวัง

คดีดังกล่าว มีที่มาจากกรณีที่ กรณีผู้ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ได้เข้าร้องเรียน และดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญากับ นายสุทธิชัย หยุ่น และพวกรวม 9 ราย ในกรณีกีดกันห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นบริษัท NMG เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี 2558 และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 เป็นคดีดำหมายเลขที่ อ.2573/2559

คดีกีดกันผู้ถือหุ้นบางกลุ่มที่เกิดขึ้น เกิดจากรากเหง้าของสงครามแย่งชิงกิจการเครือเนชั่น ที่มี บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เป็นแกนหลักในปี 2557 เป็นต้นมา เมื่อมีการตรวจสอบในชั้นต้นพบว่า หุ้นจำนวนมากของ NMG ที่เคยอยู่ในมือของกลุ่มธนชาต และผู้ถือหุ้นรายใหญ่บางคน ได้ตกอยู่ภายใต้กำมือกลุ่มนักลงทุนรายใหม่ที่มีแกนหลักคือ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ก จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS โดยที่กระจายตัวกันเพื่อหลบเลี่ยงการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์

การเปลี่ยนโครงสร้างจากเดิมที่หุ้น NMG เคยเป็น “หุ้นไร้เจ้าภาพ” (ไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่แท้จริงเกินกลุ่มละ 10%) ทำให้เกิดการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้บริหารของ NMG และ NEWS แต่ไม่สามารถลงตัวกันได้ …. ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ สงครามแย่งชิงอำนาจเหนือกิจการ

เริ่มตั้งแต่กลุ่มนายสุทธิชัย ที่ยึดครองอำนาจบริหารในเครือเนชั่นมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ เปิด “สงครามชิงพื้นที่สื่อ” กล่าวหาว่า การเข้ามาของกลุ่ม NEWS ไม่เป็นประโยชน์ต่อ NMG และมีเจตนาเคลือบแฝงในฐานที่มี “ทุนสีเทา” อยู่เบื้องหลัง … ถึงขั้นร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐและสื่อหลายแห่ง

ช่วงแรกของสงครามชิงพื้นที่ข่าวนั้น ราคาหุ้นของเครือ NMG ที่เคยซึมเซาเพราะผลประกอบการถดถอยลง (แม้ยังมีกำไรสุทธิอยู่บ้าง) พากันวิ่งขึ้นกระฉุดผิดปกติ จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องขึ้นเครื่องหมายให้ใช้บัญชีเงินสดซื้อขาย

สงครามชิงพื้นที่ข่าว ยังดำเนินไปพร้อมกับสงครามแย่งชิงการถือครองหุ้น ที่กลุ่มนายสุทธิชัยดึงกลุ่มนายคีรี กาญจนพาสน์ แห่งค่าย BTS เข้ามาเพิ่มสัดส่วนหุ้น NMG ด้วย

สงครามชิงพื้นที่ข่าวยังไม่ทันจบสิ้น ก็มีวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอันอื้อฉาวตามมา เมื่อนายสุทธิชัย ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการกะทันหัน ในการประชุมคณะกรรมการ NMG คืนก่อนการประชุม แล้วให้นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ขึ้นเป็นประธานชั่วคราว เพื่อดำเนินการจัดประชุมดังกล่าว มีเป้าหมายมุ่งสกัดกั้นการใช้สิทธิ์ลงคะแนนของ “กลุ่มผู้ถือหุ้นไม่พึงประสงค์” ที่ถูกกล่าวหาจากกลุ่มนายสุทธิชัยในหลายข้อหาคือ 1) ได้มาซึ่งการถือครองหุ้นเกินกว่า 30% โดยไม่ชอบ เพื่อมุ่งครอบงำกิจการ 2) การเข้าถือหุ้นของคนกลุ่มนี้ อาจขัดต่อกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ

หลังการประชุมอันวุ่นวายด้วย “รังสีอำมหิต” แผ่ซ่าน ถึงขั้นระดมชายฉกรรจ์จำนวนมาก มาเป็นเจ้าหน้าที่ เพื่อขานรับคำสั่งห้ามบุคคลที่มีรายชื่อระบุว่า “บุคคลต้องห้าม” เข้าร่วมการประชุม และมีมติหลายอย่าง ตามวาระการประชุมที่ตั้งขึ้นมากะทันหัน ออกมาหลายเรื่อง

การกระทำอันโจ๋งครึ่มและฉาวโฉ่ดังกล่าว เพื่อมุ่งยึดอำนาจบริหารอย่างดิบเถื่อน ตามมาต่อเนื่องด้วยเรื่องราวฟ้องร้องกันไปมาอุตลุดระหว่างคู่กรณียาวยืดเป็นหางว่าว ก่อนที่ต่อมา ก.ล.ต. จะ “ลงดาบ” คู่กรณีทั้งสองฝั่ง ด้วยข้อหาแตกต่างกัน

กลุ่ม NEWS ถูกตั้งข้อหา “สมคบคิด” เข้าครอบงำกิจการเพื่อหลบเลี่ยงการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ (acting in concert) คดียังไม่จบสิ้น

ส่วนคณะกรรมการจัดการประชุมสามัญวันนั้นรวม 8 คน ถูกกล่าวหาจาก ก.ล.ต.ว่าขาดความน่าไว้วางใจในคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารและกรรมการเครือเนชั่นทั้งหมดตั้งแต่ วันที่ 6 ตุลาคม 2559 และตามมาด้วยตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งพักซื้อขายชั่วคราว (ขึ้น H) หุ้นในเครือเนชั่น 4 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาด พร้อมสั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริง

คำสั่งของ ก.ล.ต. ออกมาในวันเดียวกันกับที่ศาลแพ่งมีคำวินิจฉัยว่า มติการประชุมสามัญอันอื้อฉาว ไม่มีผลบังคับใช้

แทนที่จะทำการชี้แจงข้อเท็จจริง ตามคำสั่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ จู่ก็มีคำสั่ง “ไอ้โม่ง” ในเครือเนชั่น ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 สั่ง “ล้มผัง” รายการโทรทัศน์ในเครือทั้งหมด ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ….เพื่อทำการถ่ายทอดสดการที่คนทั้ง 8 เปิดแถลงข่าวในที่สาธารณะ ตอบโต้คำสั่งที่ “ไม่ชอบธรรม” ของ ก.ล.ต. ท่ามกลาง “ม็อบสื่อ” ในเครือ ด้วยการระบุว่า ก.ล.ต.ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับ “คนดี” ทั้ง 8 คน

หลังจากนั้น เมื่อสิ้นงวดบัญชี ผลประกอบการของบริษัทในเครือเนชั่นทั้งหมดก็ถูกเปิดเผยออกมาในงบการเงินสิ้นปี 2559 และไตรมาสแรกของปี 2560 ว่าขาดทุนยับเยินจากปัจจัยทั้งเก่าและใหม่

แล้วก็ตามมาล่าสุด ด้วยคำสั่งศาลอาญาวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ระบุ การกระทำของจำเลยทั้ง 9 คน เป็นกระทำการครั้งเดียวในความผิดหลายมาตรา เป็นการร่วมกันกระทำการ ดำเนินการโดยไม่สุจริต ขาดความรับผิดชอบและความระมัดระวังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ม.89/7 พ.ร.บ.มหาชน ม.33, 102, 104 และ 105 ต้องตาม ม.291/2 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษปรับให้ไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่ได้รับ และค่าปรับต้องไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท เมื่อจำเลยทั้ง 9 ร่วมกันกระทำความผิด สมควรกำหนดค่าปรับตามระวาง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30….

บทลงโทษในการกระทำผิด ระบุว่า มีอัตราโทษปรับให้ไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่ได้รับและการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหลายบท

พิพากษาให้ปรับคนละ 5 แสนบาท …หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 แทน

คำพิพากษาและบทลงโทษที่กล่าวมา ยังไม่ถือว่าจบสิ้น เพราะเป็นแค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น สามารถยืดเวลาต่อสู้ไปได้อีกนานหลายปีได้

คำถามคือ กว่าคดีจะจบสิ้นลง กิจการของ NMG ที่ล่าสุดมีส่วนผู้ถือหุ้นเหลืออยู่ 2,427.27 ล้านบาท เทียบกับหนี้สิน 4,165.66 ล้านบาท และราคาหุ้นถดถอยลงมาต่ำเตี้ยตามผลประกอบการแค่ระดับต่ำกว่า 0.65 บาท …จะมุ่งไปหนไหน

คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่คนทั้ง 9 คน….ที่ลอยนวลไปแล้ว หลังจากเกิดการ “เรือล่มเมื่อจอด” ไปแล้ว….และ/หรือไม่มีคำตอบเลย

อิ อิ อิ

Back to top button