ความเชื่อถือ

น้ำท่วมโทษใครดี โทษผู้นำโง่ อย่างไอดอลคนชั้นกลางเมื่อปี 54 หรือโทษฝนพันปี ร้อยปี 30 ปี ทำให้กระทั่งอดีตผู้นำอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังโดนน้ำท่วมบ้านรถพังแบบไม่ทันตั้งตัว


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง 

น้ำท่วมโทษใครดี โทษผู้นำโง่ อย่างไอดอลคนชั้นกลางเมื่อปี 54 หรือโทษฝนพันปี ร้อยปี 30 ปี ทำให้กระทั่งอดีตผู้นำอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังโดนน้ำท่วมบ้านรถพังแบบไม่ทันตั้งตัว

ปัดโธ่ ก็ฝนตกไม่ลืมหูลืมตาซะขนาดนั้น จะโทษใครได้ ก็ต้องโทษ “น้ำรอระบาย” ไม่มีใครรับมือทัน ไม่ว่ารัฐบาลหรือ กทม. รัฐบาลนี้ทำดีที่สุดแล้ว อย่าตำหนิ ไม่เหมือนปี 54 มีอะไรโทษ “อีปู” ได้ น้ำมาเห็นๆ ยังบอก “เอาอยู่” ดีเท่าไหร่ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปล่อยน้ำท่วมประเทศไทย

เพียงแต่ขำๆ ก่อนหน้านี้ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เพิ่งเตือนว่าอาจมีพายุ 3 ลูกพัดเข้าใน 2 สัปดาห์ กรมอุตุนิยมวิทยาแย้งว่าไม่จริง ไปออกทีวีถกกัน รองอธิบดีกรมอุตุฯ บอกว่าถ้าเป็นเมืองนอกจะไม่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนภัยแข่งกับรัฐ แต่ประเทศเราไม่มีกฎหมายให้ฟ้องคนที่แจ้งเตือน ซึ่งทำให้สังคมตื่นตระหนก

เพิ่งพูดแค่ข้ามวัน ฝนก็กระหน่ำโครมๆ กรมอุตุฯ ยอมรับเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะมีพายุชื่อขนุน

ก็ไม่ได้คิดว่า ดร.เสรีถูกหมด จะมีพายุ 3 ลูกจริงไหมต้องรอดูกัน และเห็นว่าการที่นักวิชาการออกมาพยากรณ์อากาศแข่งกับรัฐนี่มันก็ทำให้สับสนจริงนะครับ แต่บังเอิญ หน่วยงานรัฐเสียรังวัดอยู่บ่อยๆ ไม่งั้นคงไม่มีใครเชื่อนักวิชาการที่มีเครื่องไม้เครื่องมือไม่เท่ารัฐ

ที่จริงเรื่องนี้ถ้ามองให้กว้างออกไป ในทุกสาขาวิชา เราจะพบว่าหน่วยงานรัฐและข้าราชการ มักได้รับความเชื่อถือน้อยกว่านักวิชาการมหาวิทยาลัย หรือผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน ข้อแรก เห็นกันอยู่ว่าคนเก่งๆ มักไม่อยากอยู่ในระบบราชการ ข้อสอง อาจมีคนเก่งแต่ติดขัดระบบราชการ ระบบบังคับบัญชา

ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ชี้แจงว่า ไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ตามข่าวที่เผยแพร่กันในโลกออนไลน์ เพราะหยุดระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.

โฆษกไก่อูกล่าวเรื่องนี้ว่า อย่าเชื่อข่าวลือ ซึ่งเอาข่าวเก่าปี 54 มาแพร่ใหม่ ใครจงใจแพร่ข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์

ก็ใช่นะ โลกโซเชียลตื่นตระหนกง่าย สังคมไทยชอบข่าวลือ สมัยก่อนข่าวลืออาจใช้เวลาหลายวัน สมัยนี้พริบตาเดียวจากเหนือจดใต้ แต่ข่าวลือก็มักมีเหตุจากความไม่เชื่อไม่ไว้วางใจ คิดว่ามีการปกปิดข้อมูล

น่าสังเกตว่าระยะนี้รัฐบาลเจอข่าวลือข่าวกระพือจนชาวบ้านตื่นตระหนกอยู่บ่อยๆ เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการประกาศว่าปีหน้าจะเก็บ 10% เป็นภาษากฎหมายที่ใช้มาตลอด 20 ปี ประกาศทุกปีก็เขียนอย่างนี้ แต่คนทั่วไปไม่เคยสังเกต กระนั้นก็ไม่ใช่ชาวบ้านตื่นตระหนกโดยไม่มีมูล อ้าว ใครละเพิ่งบอกประชาชนให้เสียสละเสียแวต 8%

รถถังจีน VT4 ก็ยังเจอข่าวลือในโลกโซเชียล ว่าซื้อแพงคันละ 200 ล้าน จีนขายประเทศอื่น 103 ล้าน โฆษก ทบ.ต้องโต้วุ่นว่าราคาจริง 172 ล้าน และจีนไม่เคยขายให้ใคร ข้อนี้กองทัพก็น่าจะเข้าใจว่ามันมีความไม่ไว้วางใจจากเรื่อง GT200 และเรือเหาะ

การเจอเรื่องแบบนี้บ่อยขึ้น สะท้อนอะไร ก็น่าจะรู้กัน อย่ามัวไปจ้องเอาผิดว่ามีคนปล่อยข่าว ถ้าชาวบ้านเชื่อถือรัฐบาลข่าวลือก็ไม่มีความหมายหรอก

Back to top button