CSP ร่วงเกือบติดฟลอร์ 28.41% หลังงบฯ Q3/60 พลิกขาดทุนอ่วม 169.89 ลบ.
CSP ร่วงเกือบติดฟลอร์ 28.41% หลังงบฯ Q3/60 พลิกขาดทุนอ่วม 169.89 ลบ. เหตุโดนค่าอากรขาเข้า-ค่าปรับกรมศุลกากร 188.49 ลบ. โดย ณ เวลา 10.35 น. อยู่ที่ระดับ 1.89 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 28.41% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 15.19 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CSP ณ เวลา 10.35 น. อยู่ที่ระดับ 1.89 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 28.41% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 15.19 ล้านบาท ราคาหุ้นร่วงเกือบติด Floor ที่ระดับ 1.85 บาท เนื่องจากบริษัทแจ้งงบฯ Q3 พลิกขาดทุน 169.89 ลบ. โดยเป็นผลมากจากบริษัทมีค่าอากรขาเข้าและค่าปรับกรมศุลกากรจำนวน 188.49 ล้านบาท
บริษัทประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/60 ขาดทุนสุทธิ 169.89 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.34 บาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 21.75 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.04 บาท
โดยรายได้รวมอยู่ที่จำนวน 789.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 199.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.82 โดยรายได้จากการขาย จำนวน 789.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 199.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33.82 สาเหตุหลักเป็นผลมาจากปริมาณขายเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 18.66 จากการที่บริษัทสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดในลูกค้ากลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และมูลค่าขายสินค้าต่อกิโลกรัมถัวเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 11.82% ซึ่งเป็นไปตามราคาตลาด
ด้านค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 959.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 391.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 68.84 สาเหตุหลักเกิดจาก ต้นทุนขาย จำนวน 733.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 205.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.90 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่มีความผันผวนของราคาสูง และสอดคล้องกับปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ค่าอากรขาเข้าและค่าปรับกรมศุลกากร จำนวน 188.49 ล้านบาท สืบเนื่องจากกรมศุลกากรตรวจพบว่าบริษัทฯได้นำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มาใช้ไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไข จึงทำให้ไม่ได้รับสิทธิรับการยกเว้นการเรียกเก็บอากรชั่วคราว/อากรปกป้อง
หากไม่รวมค่าอากรขาเข้าและค่าปรับกรมศุลกากรข้างต้น สำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 บริษัทจะมีกำไรสุทธิจำนวน 18.60 ล้านบาท แต่ก็ยังลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3.15 ล้านบาท จากความผันผวนของต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น