DEMCO คว้างานจัดหาอุปกรณ์-ก่อสร้างสายส่งแรงดัน 500kV มูลค่า 760 ลบ.

DEMCO คว้างานจัดหาอุปกรณ์-ก่อสร้างสายส่งแรงดัน 500kV ของกฟผ. มูลค่า 760 ลบ. ดัน Backlog เพิ่มเป็น 4.4 พันลบ. เริ่มทยอยรับรู้รายได้ปีนี้ พร้อมเดินหน้าลุยประมูลงานใหม่ต่อเนื่อง


บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ระบุว่า บริษัทในฐานะ Consortium of DEMCO Public Company Limited and RCR Limited ได้รับสัญญาจ้างงานจัดหาอุปกรณ์พร้อมก่อสร้างสายส่ง แรงดัน 500 เควี  จากสถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 3 ถึงสถานีไฟฟ้าร้อยเอ็ด 2 ระยะทาง 86 กิโลเมตร จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับโครงการปรับปรุงระบบสายส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคกลาง และพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดยมีมูลค่างาน 750,198,750.00 บาท และ USD 2,638,524.00 แบ่งเป็น มูลค่างานของ DEMCO จำนวน750,198,750 บาท และ USD 293,748.00 ส่วนมูลค่างานของ RCR มีมูลค่า USD 2,344,776.00 โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน

นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ DEMCO เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทได้รับใบสั่งจ้างงานก่อสร้างสายส่ง 500 เควี ระหว่างสถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี 3 ถึง สถานีไฟฟ้าร้อยเอ็ด 2 ระยะทาง 86 กิโลเมตร จากกฟผ. มูลค่ารวมประมาณ 760 ล้านบาท รวมเป็นมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้และปี 61

ส่วนกรณีที่บริษัท เด็มโก้เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตเสาโครงเหล็กสำหรับสายส่งระบบ 500 เควี ตามมาตรฐาน กฟผ. ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของผู้ผลิตในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นตาม

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงเข้าร่วมประมูลของภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะงานติดตั้งสายส่งและสถานีไฟฟ้าของกฟผ. ซึ่งมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท/ปี จากมูลค่าของโครงการทั้งหมด ซึ่งจะทยอยออกมาภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี60-64) ไม่น้อยกว่า 50,000 – 60,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ทั้งงานก่อสร้างระบบสายส่ง และสถานีไฟฟ้า ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งมีมูลค่าโครงการประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าใต้ดิน 3,000-4,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีงานสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 48,000 ล้านบาท

นอกเหนือจากงานของกฟผ. และกฟน.แล้ว ยังมีงานเสาส่งโทรคมนาคมของภาคเอกชน เพื่อรองรับ 4 จี หลังจากที่ค่ายมือถือประมูลได้ในช่วงก่อนหน้า ที่คาดว่าจะมีเข้ามาช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัทในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนกว่า 160.77 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายพิเศษ ในการปรับปรุงฐานกังหัน โครงการห้วยบง

Back to top button