เริ่มชัด! “เสี่ยเจริญ” จ่อเทนเดอร์ฯ TICON ขั้นต่ำ 18บ.! ฟาก ROJNA บุ๊คกำไรทันที 1.8พันลบ.
เริ่มชัด! "เสี่ยเจริญ" จ่อเทนเดอร์ฯ TICON ขั้นต่ำ 18 บาท! ฟาก ROJNA บุ๊คกำไรทันที 1.8 พันลบ.
สืบเนื่องจากวานนี้ (29 ม.ค.) ราคาหุ้นบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ปรับตัวขึ้นแรง โดยปิดตลาดอยู่ที่ 7.60 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 4.11% สูงสุดที่ 7.70 บาท ต่ำสุดที่ 7.40 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 192.34 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้น บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ได้ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปิดตลาดที่ 17.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 2.94% สูงสุดที่ 17.60 บาท ต่ำสุดที่ 17.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 189.19 ล้านบาท
โดย “แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมไทย” ได้เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า ROJNA เตรียมจะขายหุ้นของ TICON ทั้งหมดที่ถืออยู่เป็นจำนวน 478,699,619 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 26.10% ให้กับบริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) ภายในเดือนก.พ.61 โดยคาดว่าราคาเสนอขายจะอยู่ที่ 18 บาทต่อหุ้น มูลค่าซื้อขายประมาณ 8.62 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ROJNA มีต้นทุนถือหุ้น TICON อยู่ที่ 14.27 บาทต่อหุ้น หากมีการตกลงขายที่ราคา 18 บาทต่อหุ้น จะส่งผลให้ ROJNA ได้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3.73 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวประมาณ 1.79 พันล้านบาท และจะบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นดังกล่าวได้ในไตรมาส 1/61
ขณะเดียวกันหาก บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) เป็นผู้ซื้อหุ้น TICON จาก ROJNA ที่ถืออยู่ทั้งหมดจริงจะส่งผลให้เข้าเกณฑ์ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เนื่องจากภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) จะถือหุ้น TICON เพิ่มเป็น 66.17%
สำหรับการกำหนดราคาเสนอซื้อนั้น ต้องเป็นราคาไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ผู้ทำคำเสนอซื้อและบุคคลตามมาตรา 258 ของผู้ทำคำเสนอซื้อได้มาในช่วง 90 วัน
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่าเมื่อมีการทำรายการซื้อขายนี้เกิดขึ้น และต้องมีการทำเทนเดอร์ฯ ที่ราคาดังกล่าวจริงจะถือเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อราคาหุ้น TICON หรือไม่อย่างไร ขณะที่ราคาปิดล่าสุดอยู่ที่ 17.50 บาท ซึ่งถือว่ามีส่วนต่างจากคาดการณ์ราคาเทนเดอร์ฯ อยู่ 0.50 บาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TICON
ลำดับ | ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ | จำนวนหุ้น (หุ้น) | % หุ้น |
---|---|---|---|
1. | บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด | 735,000,000 | 40.07 |
2. | บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) | 478,699,619 | 26.10 |
3. | นางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล | 46,391,670 | 2.53 |
4. | นายจตุพล เกรียงไชยกิจกุล | 46,249,100 | 2.52 |
5. | บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด | 41,287,492 | 2.25 |
ที่มา ตลท. (ภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 05/05/2560)
ด้าน นางสาวอมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการของ ROJNA เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาขายหุ้นของ TICON ที่ปัจจุบันถืออยู่จำนวน 478,699,619 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.10%
ทั้งนี้ บริษัทจะให้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ดำเนินการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของราคาหุ้น TICON ที่จะขาย และจะต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ก่อน ซึ่งจากนั้นจะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้หากได้ราคาที่เหมาะสมบริษัทก็มีความพร้อมที่จะขายให้กับกลุ่มเฟรเซอร์ส ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกลุ่มเฟรเซอร์สเข้ามา ก็ยังคงบริหารร่วมงานร่วมกัน แต่นโยบายของทาง TICON ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น การขายสินทรัพย์เข้ากองรีทที่น้อยลง
“ขณะนี้ก็กำลังดูอยู่ เพราะจะต้องดูว่าเขาเสนอราคามาที่เราพอใจและเหมาะสมหรือไม่ และพร้อมกับดูว่าเงินที่ได้มาจะเอาไปทำอะไร ซึ่งหากเสนอมากในระดับที่พอใจก็พร้อมที่จะขาย แต่ต้องได้ระดับราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องให้ที่ปรึกษาการเงินอิสระเป็นผู้ประเมินความเหมาะสม” นางสาวอมรา กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2559 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2559 ของ TICON มีมติอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียน ด้วยการออกหุ้นสามัญจำนวน 735 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40.7% ของทุนจดทะเบียน โดยการเสนอขายแบบบุคคลในวงจำกัด (PP) ให้กับบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) หรือ FPHT ที่ราคาขาย 18 บาทต่อหุ้น จึงส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของ ROJNA ใน TICON ลดลงเหลือ 26.10% จากเดิมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ถือหุ้นอยู่ที่ 43.55% และกลุ่มเฟรเซอร์สฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง 40.7%
สำหรับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) หรือ FPHT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD และมีฐานะเป็นบริษัทย่อยของเฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยเป็นบริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี