SCG Express ความต่างบนความได้เปรียบ.?
ผลจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 30-40% ด้วยมูลค่า 700,000-800,000 ล้านบาท และเมื่อธุรกิจการค้าออนไลน์ขยายตัว จึงทำให้ความต้องการใช้บริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย โดยตลาดขนส่งพัสดุรายย่อยในไทย เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10-20% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
พลวัตปี 2018 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)
ผลจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 30-40% ด้วยมูลค่า 700,000-800,000 ล้านบาท และเมื่อธุรกิจการค้าออนไลน์ขยายตัว จึงทำให้ความต้องการใช้บริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย โดยตลาดขนส่งพัสดุรายย่อยในไทย เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10-20% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ด้วยโอกาสทางธุรกิจดังกล่าวทำให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในนามของ SCG จึงร่วมทุนกับยามาโตะ กรุ๊ป (YAMATO Group) หรือที่รู้จักกันในสัญลักษณ์ “แมวดำคาบลูก” เพื่อสื่อว่าเป็นบริษัทขนส่งที่ดูแลสินค้าเป็นอย่างดี (เสมือนแม่แมวดูแลลูก) ยักษ์ใหญ่ด้านขนส่งพัสดุรายใหญ่อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น จากส่วนแบ่งการตลาดกว่า 46%
โดยจัดตั้ง บริษัท ยามาโตะ เอเชีย จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 633 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้น SCG 65% และ ยามาโตะ กรุ๊ป 35% เพื่อให้บริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน ภายใต้ชื่อ SCG Express
ผู้บริหาร SCG มองว่า แม้ตลาดขนส่งพัสดุด่วนมีการแข่งขันสูงทั้งรายเก่าและใหม่ แต่ถือเป็น New Market ที่มีการเติบโตมาก ฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นแต่ละรายวาง Positioning ของตัวเองอย่างไร โดย SCG เห็นโอกาสธุรกิจนี้และเข้าตลาดในจังหวะที่เหมาะสม เพราะขนาดตลาดใหญ่พอสมควรที่จะทำให้มี Scale ได้
ด้วยการผสมผสานจุดแข็ง SCG และยามาโตะกรุ๊ป เพื่อสร้างการเติบโตให้ SCG Express อย่างเข้มแข็งแบบค่อยเป็นค่อยไป การรีบเร่งแข่งขันมากเกินไปทำให้บริการเสียหายและแบรนด์เสียไปได้ง่ายๆ
โมเดลธุรกิจ SCG Express เป็นการประสานความแข็งแกร่ง ทั้งจาก SCG ในด้านระบบโลจิสติกส์และเน็ตเวิร์ค เพื่อต่อยอดจาก SCG Logistics (บริการขนส่งแบบ B2B) มาผนวกเข้ากับเทคโนโลยี-นวัตกรรมด้านการขนส่งของ ยามาโตะกรุ๊ป เพื่อใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางสมรภูมิรบที่มีผู้เล่นมากมาย ทั้งเจ้าถิ่นอย่างไปรษณีย์ไทย และยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย หรือที่เรียกกันว่า The Power of Synergy : สร้างความต่างบนความได้เปรียบ นั่นเอง
หากเจาะลึกกลยุทธ์ SCG Express พบว่ามี 3 กลยุทธ์ที่สามารถแข่งขันและสร้างความแตกต่าง นั่นคือ..
-นวัตกรรมบริการขนส่งจากญี่ปุ่น นำมาใช้ในตลาดไทย จากช่วงแรกมี 4 รูปแบบบริการ คือ บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ (COOL TA-Q-BIN) จัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้รับ ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากยามาโตะ กรุ๊ป อาทิ กล่องรักษาความเย็น (Cool Container) เพื่อตอบความต้องการลูกค้ากลุ่มธุรกิจรายย่อยที่ต้องการส่งสินค้าในรูปแบบควบคุมอุณหภูมิ อาทิ อาหารแช่แข็ง ผลไม้ ยา ขนมและเครื่องสำอาง
พร้อมกับบริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้าน (TA-Q-BIN) บริการรับพัสดุถึงบ้านลูกค้าและจัดส่งถึงปลายทางวันถัดไป, บริการส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ด่วนระหว่างบริษัทถึงบริษัท (DOCUMENT TA-Q-BIN), บริการเก็บเงินปลายทาง (TA-Q-BIN COLLECT)
-ยึดหลัก Customer Centric เพื่อส่งมอบบริการด้วยความเอาใจใส่จากพนักงานที่ได้รับการอบรมมาตรฐานการให้บริการจากยามาโตะ กรุ๊ป เพื่อยกระดับการบริการขนส่งพัสดุย่อยในไทยให้ก้าวไปอีกระดับ เนื่องจากมองว่าปัจจัยพิจารณาการเลือกใช้บริการขนส่งพัสดุด่วน ลูกค้าไม่ได้มองที่ “ราคาถูก” อย่างเดียว แต่ยังตัดสินใจเลือกใช้บริการจากคุณภาพ
-ขยายศูนย์บริการ Service Point ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายจุดบริการรับพัสดุ Service Agent ด้วยการเปิดให้องค์กรธุรกิจ หรือผู้สนใจสมัครเป็น Service Agent เพื่อขยายจุดบริการรับพัสดุสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเน้นกระจายย่านชุมชน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
ต้องยอมรับว่าตลาดบริการส่งด่วน (Delivery) เป็นตลาดที่การแข่งขันดุเดือด มีผู้ให้บริการในตลาดอยู่หลายราย การที่ SCG กระโดดเข้ามาธุรกิจนี้อีกรายภายใต้ชื่อ SCG Express นั่นแสดงว่าเห็นโอกาสจากระบบ Logistics ที่มีอยู่แล้วของ SCG สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้
คำตอบสุดท้าย..ต้องขึ้นอยู่กับว่า SCG Express จะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดได้มากน้อยแค่ไหน…ที่สำคัญมากพอที่จะรักษาชื่อเสียงของ “แมวดำคาบลูก” ยักษ์ใหญ่ด้านขนส่งพัสดุรายใหญ่ของญี่ปุ่น ในฐานะผู้ร่วมลงทุนได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ด้วยเช่นกัน