“เคมีแมน” เคาะราคา IPO ที่ 3.84 บ./หุ้น เล็งเทรด 21 มี.ค.นี้

"เคมีแมน" หรือ CMAN ผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมี เคาะราคาขาย IPO จำนวน 240 ล้านหุ้น ที่ 3.84 บ./หุ้น เปิดจอง 14-16 มี.ค. เล็งเข้าเทรดตลาด SET วันที่ 21 มี.ค.นี้ โดยมีธนาคาร ทิสโก้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 240 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3.84 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 14-16 มี.ค.นี้ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 21 มี.ค.61

ด้านนายมานพ เพชรดำรงค์สกุล หัวหน้าธุรกิจขนาดใหญ่ ตัวแทน บล.ทิสโก้ จำกัด มหาชน ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยว่า หลังจากสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) IPO ของ CMAN จากนักลงทุนสถาบันเมื่อวันที่ 6-8 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 3.72 – 3.84 บาทต่อหุ้น พบว่ามีนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 3.84 บาท และแสดงความต้องการจองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จัดสรรไว้ประมาณ 20 เท่า จึงกำหนดราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 3.84 บาท พร้อมเตรียมเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อวันที่ 14-16 มี.ค. และคาดว่าจะนำหุ้น CMAN เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 21 มี.ค. 61

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท โดยทุนที่ออกและชำระแล้วมีจำนวน 720 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

โดยบริษัทมีศักยภาพสูงจากการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนไลม์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งปูนไลม์ (ณ วันที่ 30 ก.ย. 60) รวมประมาณ 8 แสนตัน/ปี จากฐานการผลิตในจังหวัดสระบุรีและระยองรวม 3 แห่ง

ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา CMAN ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เตาเผาปูนควิกไลม์ใหม่ (KK 6) เพิ่มขึ้นอีก 1 เตา ที่โรงงานแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9 แสนตันต่อปี นอกจากนี้ยังมีศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญอีก 2 แห่งในประเทศออสเตรเลียเพื่อรองรับการทำตลาดต่างประเทศ

ด้านนายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMAN เปิดเผยว่า ปูนไลม์ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใกล้ตัว เนื่องจากถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพแก้ว ขวด กระจก อาหารสัตว์ เป็นต้น

ขณะที่บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจปูนไลม์เพียงรายเดียวในประเทศไทย ที่มีทั้งโรงงานผลิตและได้รับประทานบัตรเหมืองอายุ 25 ปี (สิ้นสุด 23 มิ.ย. 83) จากกระทรวงอุตสาหกรรม บนพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งแร่หินปูนเคมีที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเป็นพิเศษ (Ultra-high Calcium Limestone) มีปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรองกว่า 115 ล้านตัน (จากข้อมูลสำรวจ ณ เดือน ต.ค. 59) จึงทำให้บริษัทฯ มีความได้เปรียบในเชิงคุณภาพและการบริหารต้นทุนของวัตถุดิบ

ทั้งนี้ จากผลสำรวจภาวะอุตสาหกรรมปูนไลม์ในประเทศไทยโดย Frost & Sullivan บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาด ปูนควิกไลม์และปูนไฮเดรตไลม์สูงสุดทั้งการขายในประเทศและการส่งออก โดยปี 59 มีส่วนแบ่งการขายปูนควิกไลม์และปูนไฮเดรตไลม์ในประเทศ 29% และ 21% และมีมูลค่าส่งออก 81% และ 84% ของมูลค่าส่งออกปูนไลม์รวมของประเทศไทยตามลำดับ ขณะที่ผลการดำเนินงานงานปี 60 มีรายได้รวม 2,215 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 109.31 ล้านบาท

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ได้กำหนดเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งปูนไลม์ติด 10 อันดับแรกของโลก โดยจะขยายกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็นประมาณ 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 63 เพื่อตอบสนองความต้องการของปูนไลม์ที่ขยายตัว ซึ่งจะเอื้อให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลียและแอฟริกา ครอบคลุมกว่า 20 ประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างขยายธุรกิจในประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายปูนไลม์ในอินเดียอีก 2 แห่งที่เมือง Visakhapatnam และเมือง Tuticorin ซึ่งเป็นเมืองท่าและเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศอินเดียอีกด้วย โดยในส่วนของบริษัทจะใช้งบลงทุนแห่งละ 87.50 ล้านบาท และประมาณ 115 ล้านบาทตามลำดับ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 62

“เรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่อง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะสร้างความสมดุลให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่พึงพอใจแก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนหลักบรรษัทภิบาลที่ดี” นายอดิศักดิ์กล่าว

Back to top button