แพนิก ‘แบงก์-FSMART’

วานนี้ (28 มี.ค.) นักลงทุนต่างเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารกันออกมา หุ้นขนาดใหญ่อย่าง KTB, KBANK และ SCB ราคาปรับลงกันหมด


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้ (28 มี.ค.) นักลงทุนต่างเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารกันออกมา

หุ้นขนาดใหญ่อย่าง KTB, KBANK และ SCB ราคาปรับลงกันหมด

KBANK ปรับลง 9.00 บาท มาที่ 213 บาท เปลี่ยนแปลง -4.05%

SCB ราคาร่วง 3.50 บาท มาที่ 141.50 บาท เปลี่ยนแปลง -2.41% และราคาปิดดังกล่าวต่ำสุดในรอบกว่า 8 เดือน

ส่วน KTB ราคาลดลง 0.50 บาท มาที่ 19.20 บาท เปลี่ยนแปลง -2.54%

ล่าสุดในช่วงหัวค่ำวานนี้ทางธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ก็ประกาศเรื่องฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่างๆ เช่นกัน

ปัจจัยลบจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่อาจจะปรับลง และไปกระทบกับกำไรของธนาคารที่หันมาแข่งขันลดค่าฟีกัน

ค่าฟีที่ว่านี้ เป็นค่าฟีที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนเงินต่างธนาคาร

และยังมีจ่ายบิลค่าสินค้า บริการ และการเติมเงิน (มือถือ)

บรรดานักวิเคราะห์ยังไม่ได้ดีดลูกคิดกันออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนว่า แบงก์แต่ละแห่งจะกระทบมากน้อยแค่ไหน

เพียงแต่ว่าในระยะสั้น อาจซัก 2-3 ไตรมาส ข้างหน้ากระทบแน่นอน

ทว่า ในระยะยาวแล้วจะเป็นปัจจัยบวกของธนาคารนั้นๆ ทั้งในด้านการรักษาลูกค้า และจำนวนลูกค้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น

เช่น นักวิเคราะห์ของ บล.เคที ซีมิโก้ บอกครับว่า จากการวิเคราะห์ “เซนซิทิวิที” (Sensitivity) การเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมที่เปลี่ยนแปลงไปทุก 10% อาจจะกระทบกำไรสุทธิทั้งปีของธนาคารประมาณ 2-4%

แต่ในระยะยาวคาดว่าส่งผลบวก

นั่นเพราะต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนด้านการบริหารจัดการเงินสด ต้นทุนที่ลดลงจากการลดและปิดสาขาและการบริการผ่านสาขาธนาคารแบบเดิม

และมีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่ม คือ คาดว่าธนาคารที่มีฐานเงินฝากบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์สูง

โดยเฉพาะบัญชีที่ผูกติดกับเงินเดือน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเจาะฐานลูกค้าช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในระยะยาว

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ก็มองเช่นกันครับว่า KBANK ที่นำร่องประกาศ และยังเป็นแบงก์ที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกรรม Digital banking มากกว่าแบงก์ใหญ่อื่นๆ

มีการเชื่อว่าผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม “เป็นไปอย่างจำกัด”

เหตุผล คือ หากอิงจากโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม จัดตามโครงการ “พร้อมเพย์” (PromptPay)

จะพบว่าหากทำธุรกรรมต่ำกว่า 5 พันบาทต่อรายการ ก็ฟรีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว

และจากสถิติยังพบว่าการทำรายการทั้งระบบ เฉลี่ยต่อครั้งก็ไม่เกิน 5 พันบาท หรือราว 1- 2 พันบาท

พอเห็นตัวเลขแบบนี้ก็อาจเรียกว่าไม่ต่างอะไรจากปัจจุบันที่แทบจะฟรีอยู่แล้ว

แบงก์ส่วนใหญ่เองนั้นได้รวมผลกระทบดังกล่าวไว้ในเป้าหมายการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมปี 2561 แล้ว

ราคาหุ้นแบงก์ที่ปรับตัวลดลง จึงเป็นเชิง “เซนติเมนต์” มากกว่า

หรือนักลงทุนอาจ “แพนิก เซล” มากเกินไป

นายแบงก์เอง ก่อนที่จะประกาศธุรกรรมฟรีค่าฟี เขาก็ต้องมีทีมงานคำนวณตัวเลขแล้วว่าจะส่งผลลบ (ระยะสั้น) และผลดีต่อธนาคาร (ระยะยาว) มากแค่ไหน

ไม่ใช่นึกว่าอยากจะปรับลดลงก็ลดกันไป เหมือนกับขายสินค้าค้างสต๊อก

คำแนะนำของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองว่าเป็น “จังหวะดี” ในการเข้าซื้อหุ้นแบงก์ที่ราคาปรับลง

มาถึงหุ้น บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART กันซักหน่อย

เมื่อวานนี้ราคาปิดร่วงลง 1.30 บาท มาที่ 10.40 บาท เปลี่ยนแปลง  -11.11%

สาเหตุที่ราคาหุ้นเพราถูกมองว่าจะได้รับผลกระทบจากที่แบงก์หันมาเล่นฟรีค่าธรรมเนียม และอาจจะทำให้คนเมินมาใช้บริการตู้เติมเงิน “บุญเติม”

หากมาดูสัดส่วนรายได้ปี 2560 ของ ฟอร์ท สมาร์ทฯ

กว่า 83.37% เป็นรายได้จากการเติมเงินมือถือ

ธุรกรรมการโอนเงินมีสัดส่วน 11.26%

ชำระบิล 2.16% และอื่นๆ อีก 3.22%

แม้ ฟอร์ท สมาร์ทฯ จะวางนโยบายเพิ่มธุรกรรมการเงินผ่านตู้บุญเติมมากขึ้น

แต่สัดส่วนรายได้หลักๆ ก็ยังมาจากการเติมเงินมือถือ

ส่วนธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ที่มีกลุ่มลูกค้ามาใช้บริการก็เป็นคนละกลุ่มที่เข้าไปใช้บริการกับธนาคาร หรือคล้ายๆ กับเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ถนัดไปใช้บริการของธนาคารมากนัก

มียอดการทำธุรกรรมต่อครั้งเป็นหลักสิบบาท หรือไม่ถึง 100 บาท

การขายหุ้น FSMART จึงถูกมองว่าเป็นแพนิกเซลมากเกินไป

Back to top button