JMART ดีดบวก 3 วันติด เด้งต่อกว่า 7% มั่นใจกำไรปีนี้ฟื้นตัว หลังQ1 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
JMART ดีดบวก 3 วันติด เด้งต่อกว่า 7% มั่นใจกำไรปีนี้ฟื้นตัว หลังQ1 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดย ณ เวลา 16.26 น. อยู่ที่ระดับ 12.00 บาท บวก 0.80 บาท หรือ 7.14% สูงสุดที่ระดับ 12.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 11.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 91.70 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ณ เวลา 16.26 น. อยู่ที่ระดับ 12.00 บาท บวก 0.80 บาท หรือ 7.14% สูงสุดที่ระดับ 12.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 11.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 91.70 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 3 นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 10.80 บาท เมื่อวันที่ 15 พ.ค.61
โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุุ้นถือเป็นการดีดตัวกลับ นับตั้งแต่ JMART ประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/61 ออกมามีผลพลิกขาดทุนเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/60
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจปีนี้จะมีกำไรสุทธิใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 490.16 ล้านบาท แม้ในไตรมาส 1/61 มีผลขาดทุนสุทธิ 187.3 ล้านบาท เนื่องมีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้สินเชื่อในบริษัทย่อย
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดของปีในไตรมาสแรกมาแล้ว และจะกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ หลังจากปัญหาการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech) บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการปล่อยสินเชื่อ ภายใต้แบรนด์ “J Money” ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทคาดว่าในปีนี้จะเติบโต 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท มาจากยอดขายสาขาเดิม (SSSG) คาดว่าจะเติบโตราว 8%, รายได้จากการขายผ่านออนไลน์น่าจะทำได้ 100 ล้านบาท/เดือน, การขายสินค้าผ่านบริษัทในกลุ่ม อย่าง บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ประมาณ 50-100 ล้านบาท/เดือน และการขายผ่าน IT Junction ประมาณ 100 ล้านบาท/เดือน
“บริษัทเชื่อมั่นว่าจากการทำ Synergy ร่วมกันจะช่วยกระจายสินค้าไปยังตัวแทนจำหน่ายได้มากขึ้น รวมถึงการสร้างความแตกต่าง โดยมี J money อยู่ในทุกช่องทางของร้าน Jmart Mobile” นายอดิศักดิ์ กล่าว
ส่วนธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภายใต้ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ยังคงมีการเติบโตที่โดดเด่น และเป็นหลักในการสร้างกำไรให้กับบริษัท รวมทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ยังเติบโตจากรายได้ค่าเช่าพื้นที่และรายได้อื่นๆ
ขณะเดียวกัน ธุรกิจ SINGER จะเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการติดตามประนอมหนี้ และการปรับเปลี่ยนระบบเก็บเงิน
โดยปัจจุบัน กลุ่ม JMART มีสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ JMART เองราว 77% , ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของ JMT อยู่ที่ 12.1% , ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ J อยู่ที่ 5.5% และธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของ J Fintech อยู่ที่ 5.2%
“เราเชื่อว่าในไตรมาส 4/61 จะเป็นไตรมาสที่มีผลประกอบการที่ดีที่สุด และในปี 62 ทั้งรายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1/62 เป็นต้นไป หลังจากทุกธรุกิจมีการเติบโตดีขึ้น และการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างการเติบโต”นายอดิศักดิ์ กล่าว
ด้านนายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ JMT เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจผลประกอบการปี 61 จะเติบโต 30% ทำนิวไฮต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร จากปีก่อนมีรายได้อยู่ที่ 1.36 พันล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 396 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/61 มีรายได้อยู่ที่ 400.92 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 116.14 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลประกอบการจะเติบโตไปตามพอร์ตบริหารหนี้ ซึ่งบริษัทยังคงเป้าหมายปี 61 เพิ่มเป็นกว่า 1.7 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 60 อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยยังคงเป้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่องอีก 5.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/61 ได้ซื้อเข้ามาแล้ว 1.01 พันล้านบาท
พร้อมทั้งมีแผนรุกขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 62 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าการขยายธุรกิจดังกล่าว จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ภายหลังจากการที่บริษัทลงทุน 55% ในบมจ.เจพี ประกันภัย ก็ช่วยเข้ามาสนับสนุนภาพรวมธุรกิจประกันของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมจะก้าวสู่การเป็นบริษัทประกันภัยชั้นนำของอุตสาหกรรม โดยจะใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัท ภายใต้กลยุทธ์ Synergy และแผนการรับประกันภัย InsurTech ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลลูกค้าในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตและมีผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น
พร้อมทั้งเตรียมจัดทำงบการเงินรวมในงบกำไรขาดทุนของบริษัทย่อยดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มมีผลในไตรมาสที่ 2/61
ขณะที่นายสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจทั้งปีจะมีกำไรสุทธิ หลังไตรมาส 1/61 มีกำไรแล้ว 0.4 ล้านบาท จากการมุ่งเน้นการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้ธุรกิจ ทั้งในส่วนที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัท และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการ Synergy ร่วมกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท คาดว่าในอนาคตรายได้จากธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ที่มาจากการ Synergy กับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทจะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีรายได้จากร้านกาแฟ CASA Lapin และ Rabb Coffee ที่วางแผนจะเปิดอีก 250 สาขาภายใน 3 ปีจากนี้
ส่วนการร่วมมือกับพันธมิตรในการซื้อสินทรัพย์ NPA เพื่อจำหน่ายออกไปนั้น คาดว่าปีนี้จำสามารถดำเนินการขายบ้านได้จำนวน 50 หลัง และในปี 62 จะเพิ่มขี้นเป็น 100-200 หลัง
โดยนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าพลิกกลับมามีกำไรสุทธิในปีนี้ แม้ผลประกอบการไตรมาส 1/61 จะยังขาดทุนสุทธิ 184.5 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 20 ล้านบาท จากการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับกระบวนการในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมมากขึ้น แบบ “Farmer Model” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการทำงานของบริษัทมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มส่งผลต่อผลการดำเนินงานอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ เป็นต้นไป
นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ J Fintech คาดว่าครึ่งหลังปีนี้น่าจะกลับมามีกำไรได้ หลังจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากลูกหนี้ ได้แก้ปัญหาและวางมาตรการในการคัดกรองลูกค้า โดยเน้นไปที่ลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในไตรมาส 1/61 บริษัทได้เริ่มดำเนินการแล้ว เห็นได้จากค่าเฉลี่ยของสินเชื่อส่วนบุคคลในแต่ละเดือนของไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย ณ สิ้นไตรมาส 1/61 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 60 ราว 65.5% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.04 หมื่นบาท
ขณะที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น โดยอัตราการจัดเก็บหนี้ จัดชั้นปกติ ณ สิ้นเดือนมี.ค.61 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.2% คุณภาพของลูกหนี้ก็ดีขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น ทำให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 5.21% และ เจ ฟินเทค มีรายได้จากดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นมาก โดยในไตรมาสที่ 1/61 อยู่ที่ 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 64% สะท้อนพอร์ตสินเชื่อของบริษัทมีขนาดใหญ่และมีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้า และเพิ่มธุรกิจใหม่ เช่น สินเชื่อฟลอร์แพลน รวมถึงจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบอื่นเพิ่มเติมอีกในไตรมาสที่ 2/61 เพื่อความครบถ้วนของบริการสินเชื่อทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อรองรับกับการแข่งขันในตลาด
นอกจากนี้ นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนาซอฟท์แวร์ และลงทุนในบริษัท Started-up ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จะเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ให้ธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม กล่าวว่า บริษัทจะสามารถเปิดตัว Digital Lending Platform “ป๋า” รุกตลาดสินเชื่อดิจิทัลที่ไม่ซื้อแบบใคร และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “fastmoney” เงินหมุนด่วนอนุมัติเร็ว สร้างกระแสความแปลกใหม่ให้กับสินเชื่อดิจิทัลในประเทศไทย ได้ภายไตรมาส 4/61 ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับการดำเนินธรุกิจของกลุ่มเจมาร์ทอย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ (17 พ.ค.) แนะนำ JMART มีเป้าหมายแรกอยู่ที่ 13.80 บาท และมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 15.90 บาท (จุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 10.30 บาท)