รายย่อยIFECแฉลูกหม้อ”หมอวิชัย”สวมบทเจ้าหนี้ขอฟื้นฟูกิจการ เร่งฟ้องศาลฯทวงความยุติธรรม!

รายย่อย IFEC แฉลูกหม้อ "หมอวิชัย" สวมบทเจ้าหนี้ขอฟื้นฟูกิจการ เร่งฟ้องศาลล้มละลายกลางทวงความยุติธรรม ฟากตลท.สั่งแจงข้อมูลละเอียดยิบ!


นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุนในหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ได้ทำหนังสือร้องความเป็นธรรมถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากพบว่า มีความพยายามของบุคคลซึ่งอ้างตนเป็นเจ้าหนี้ของ IFEC ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท ต่อศาลล้มละลายเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561

โดยการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ IFEC ในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการสมคบกับกลุ่มบุคคลที่ครอบงำกิจการ IFEC โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้านกฎหมาย ทั้งๆที่ IFEC เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเป็นจำนวนมาก แต่ IFEC ได้ถูกกลุ่มบุคคลครอบงำกิจการไว้โดยไม่ชอบด้านกฎหมาย ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากอธิบดีศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งถูกก.ล.ต. กล่าวโทษ และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ถูกก.ล.ต.สั่งปรับเป็นเงินกว่า 22 ล้านบาท โทษฐานใช้ข้อมูลอินไซด์ในการขายหุ้น IFEC และมีผลให้ต้องออกจากตำแหน่งทันที พร้อมกับการขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน

ขณะที่นายศุภนันท์ถือเป็นกรรมการในฝั่งของนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC ซึ่งถูกก.ล.ต.กล่าวโทษ รวมถึงให้พ้นจากตำแหน่งและขาดคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จัดการเลือกตั้งกรรมการบริษัท ด้วยวิธีที่มิชอบด้วยกฎหมาย

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับ IFECในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ามีความพยายามของนายแพทย์วิชัย และนายศุภนันท์ อดีตผู้บริหาร IFEC ซึ่งถูกก.ล.ต. กล่าวโทษและให้ออกจากตำแหน่งผู้บริหาร พยายามที่จะครอบงำกิจการ โดยอาศัยช่องว่างของกระบวนการทางกฎหมาย ขัดขวางการคืนอำนาจผู้ถือหุ้น ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งเชื่อว่าศาลจะรับฟัง และคัดค้านกระบวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับ IFEC มากไปกว่านี้”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ากลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นเจ้าหนี้ IFEC เตรียมที่จะเสนอให้นายศุภนันท์ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่อาจที่จะไว้วางใจได้ เพราะถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ทำให้ IFEC ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และที่สำคัญไม่มีใครอยากให้ IFEC ออกจากตลาดฯ

เราต้องการให้ IFEC กลับมาซื้อขายอีกครั้ง เพราะสถานะทางการเงินของ IFEC ไม่ได้แย่ หรือเลวร้ายจนถึงขั้นต้องเข้าแผนฟื้นฟูฯ แต่ที่สถานการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นจากปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นจากภายใน และนายแพทย์วิชัย รวมถึงนายศุภนันท์ ไม่อยากให้มีใครเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการโกงการเลือกตั้งกรรมการ เพราะต้องการที่จะกุมอำนาจเสียงส่วนใหญ่ เพื่อที่จะได้บริหารต่อ แต่เมื่อกฤษฎีกาตีความว่าผิดกฎหมาย และก.ล.ต.สั่งให้จัดเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่โดยเร็ว ก็ประวิงเวลาโดยใช้ช่องว่างหรือเงื่อนไขทางกฎหมาย ขัดขวางการเลือกตั้งกรรมการ

เราเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่เกิดขึ้น ได้คนดีมีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล เข้ามาบริหาร IFEC คงใช้เวลาไม่นาน ในการฟื้นฟูกิจการ และเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้ คู่ค้า ทำให้ธุรกิจของ IFEC กลับมาแข็งแกร่ง และสามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้อีกครั้ง”

 

ขณะที่ ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ตามที่ IFEC ได้แจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ว่าเจ้าหนี้รายหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ IFEC ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาลฯ มีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวแล้ว โดยมีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 29 ต.ค.2561 เนื่องจากการขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลฯ ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ IFEC ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 30 ส.ค.2561 ดังนี้

  1. ข้อมูลของเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ชื่อเจ้าหนี้ มูลหนี้ที่บริษัทเป็นหนี้เจ้าหนี้รายดังกล่าวบุคคลดังกล่าวเริ่มเป็นเจ้าหนี้บริษัทตั้งแต่เมื่อไรและอย่างไร ในกรณีที่รับโอนหนี้มาจากเจ้าหนี้รายอื่น ขอให้ระบุชื่อของผู้โอน รวมถึงความสัมพันธ์กับบริษัท ผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารของ IFEC ทั้งในอดีตและปัจจุบัน (ถ้ามี) ของเจ้าหนี้ที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและของผู้โอนหนี้ดังกล่าว
  2. สาระสำคัญของคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เช่น วันที่ยื่นคำร้องฯ สาเหตุที่เจ้าหนี้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการมูลหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ถ้ามี) โดยขอให้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำแผนฯ กับเจ้าหนี้และบริษัทด้วย
  3. ตามข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งเป็นงบการเงินฉบับล่าสุดที่ IFEC เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทมีสินทรัพย์รวม 12,630 ล้านบาท หนี้สินรวม 9,344 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 3,227 ล้านบาท นั้นขอให้บริษัทชี้แจงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่เป็นปัจจุบันของบริษัทว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่อย่างไร
  4. แนวทางและกรอบระยะเวลาที่บริษัทต้องดำเนินการต่อศาลฯ ภายหลังถูกยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

Back to top button