“โรงพยาบาลพระรามเก้า” จ่อเคาะราคาไอพีโอ 11-12 ต.ค.นี้ เล็งเทรด SET 30 ต.ค.61
"โรงพยาบาลพระรามเก้า" หรือ PR9 โรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลพระรามเก้า” จ่อเคาะราคาไอพีโอ 11-12 ต.ค.นี้ เล็งเทรด SET 30 ต.ค.61 โดยมี บล.ภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.ภัทร ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) จะทำการสำรวจราคาซื้อหุ้นจากนักลงทุนสถาบัน (Book Build) เพื่อกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ของโรงพยาบาลพระรามเก้า หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถกำหนดราคาเสนอขายได้ในคืนวันที่ 11 ต.ค. หรือเช้าวันที่ 12 ต.ค.นี้ โดยจะเปิดจองซื้อหุ้น IPO ได้ในวันที่ 16-19 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 30 ต.ค.นี้ ภายใต้ชื่อย่อ “PR9”
สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 180,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น โดยประกอบไปด้วย การเสนอขายหุ้นจำนวนไม่เกิน 167,500,000 หุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป และจัดสรรหุ้นจำนวนไม่เกิน 12,500,000 หุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่กรรมการและ/หรือผู้บริหารที่เป็นผู้ก่อตั้งของบริษัทฯ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกิน 20,000,000 หุ้นอีกด้วย เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะกระทบต่อราคาหุ้นหลังหุ้นทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯวันแรก ในช่วงที่ภาวะของตลาดหุ้นมีความผันผวน ก็จะทำให้ราคาหุ้นไม่ลดลงต่ำกว่าราคาจอง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
“การทำไอพีโอครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาลพระรามเก้า ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์รวมด้านการดูแลสุขภาพที่ได้รับความไว้วางใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้โรงพยาบาลสามารถเติบโตไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
พร้อมนำนักลงทุนและประชาชนทุกท่านร่วมเติบโตและก้าวสู่สังคมสุขภาพแห่งอนาคตไปพร้อมกัน ตามวิสัยทัศน์โรงพยาบาลในการเป็นศูนย์รวมด้านการดูแลสุขภาพที่ทันสมัยได้รับความวางใจมากที่สุด”นายอนุวัฒน์ กล่าว
สำหรับ PR9 มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารปัจจุบัน สนับสนุนการก่อสร้างสถานที่สำหรับพนักงานและบุคลากรทางการแพทย์ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ การลงทุนอื่นๆ และการขยายธุรกิจของบริษัทฯ และชำระคืนเงินกู้ยืม
ทั้งนี้ หลังจากการเสนอขาย IPO สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นในโรงพยาบาลพระรามเก้าจะเปลี่ยนแปลงดังนี้ คูณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และครอบครัว จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเป็น 38.4-39.4% กลุ่มแพทย์ผู้ก่อตั้งและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีสัดส่วนที่ 5.2-5.3% จากเดิมที่ 4.8% ผู้ถือหุ้นรายย่อยอยเดิมอื่นๆ 33-33.8% จากเดิมที่ 44% และผู้ถือหุ้นใหม่จะมีสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุด 21.5-23.4%
ด้าน นพ.เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ PR9 เปิดเผยว่า มั่นใจว่าจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้สูงขึ้นกว่าเดิมในอนาคต ด้วยกลยุทธ์การแข่งขันและการเพิ่มขึ้นของทรัพยากรต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนเตียงและความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่สร้างรายได้ประมาณ 40% จากรายได้จากกิจการโรงพยาบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีและความร่วมมือทางการแพทย์ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลฯ ขยายฐานลูกค้า โดยยังสามารถรักษาระดับคุณภาพและความคุ้มค่าไว้ได้เป็นอย่างดี
โดยการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้ โรงพยาบาลจะนำมาใช้สำหรับการสร้างอาคารใหม่และปรับปรุงอาคารปัจจุบัน โดยโรงพยาบาลทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อสร้างอาคารใหม่สูง 16 ชั้น ภายใต้แนวคิด Co-Healthy Space ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการภายในช่วงไตรมาส 4/62
ขณะที่การปรับปรุงอาคารปัจจุบันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคซับซ้อนและผู้ป่วยภาวะวิกฤติ โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเตียงจดทะเบียนจาก 166 เตียงในปัจจุบัน เป็นประมาณ 313 เตียง ในปี 65 ซึ่งการขยายพื้นที่การให้บริการครั้งนี้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถขยายขอบเขตการให้บริการให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้นในด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion & Wellness) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งกลุ่มที่ใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน
โดยมีบริการใหม่ ๆ ที่เริ่มให้บริการแล้ว เช่น ศูนย์สุขภาพเส้นผม ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมความงาม ศูนย์รักษาอาการปวดและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์ตรวจสุขภาพครบวงจรที่พร้อมให้บริการตรวจสุขภาพในทุกช่วงอายุ
อีกทั้งยังเดินหน้าสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิตอล (Digital Hospital) ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับบริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาล ทั้งการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานพร้อมทั้งอำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัย และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้รับบริการ
ขณะที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาในรูปแบบที่เรียกว่า “ดิจิตอลเฮลท์” (Digital Health) เช่น โมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วย (Praram 9 Patient Mobile Application) ห้องระบบศูนย์บัญชาการควบคุม (Command Center) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถใส่ติดตัว (Medical Wearable Device) รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสุขภาพและการรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ระยะไกล (Telemedicine)
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้รับบริการชาวต่างชาติ โดยการเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงและคุณภาพการให้บริการผู้ป่วยต่างประเทศเช่น ทีมงาน Cultural Support สำหรับหลายประเทศและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเมียนมา ประเทศจีน และประเทศกัมพูชา สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความชำนาญของโรงพยาบาลพระรามเก้า เพื่อเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย
“เรามั่นใจว่าจะสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้สูงขึ้นกว่าเดิมในอนาคต ด้วยกลยุทธ์การแข่งขันและการเพิ่มขึ้นของทรัพยากรต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนเตียงและความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่สร้างรายได้ประมาณ 40% จากรายได้จากกิจการโรงพยาบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีและความร่วมมือทางการแพทย์ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลขยายฐานลูกค้า โดยยังสามารถรักษาระดับคุณภาพและความคุ้มค่าไว้ได้เป็นอย่างดี”นพ.เสถียร กล่าว
ส่วน นางสาวนุชณี อู่ทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ฝ่ายบัญชีและการเงิน) ผู้รับผิดชอบสูงสุดสายงานบัญชีและการเงิน ของ PR9 กล่าวว่า โรงพยาบาลตั้งงบลงทุนในช่วง 3 ปี รวม 3,100 ล้านบาท เพื่อสำหรับการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ ปรับปรุงและขยายพื้นที่ในอาคารเดิม และก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ โดยที่เงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ส่วนหนึ่ง กระแสเงินสดของโรงพยาบาล และอาจจะมีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินบางส่วน โดยที่ปัจจุบันบริษัทไม่มีหนี้สินที่เป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0 ในปัจจุบัน