หุ้นไอพีโอยักษ์ใหญ่ “OSP” เจอ 3 ปัจจัยกดดัน เทรดวันที่ 2 ร่วง 5% ปริ่มราคาจอง!
หุ้นไอพีโอยักษ์ใหญ่ "OSP" เจอ 3 ปัจจัยกดดัน เทรดวันที่ 2 ร่วง 5% ปริ่มราคาจอง! ล่าสุดปิดตลาดภาคเช้า อยู่ที่ระดับ 27.25 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 5.50% สูงสุด 27 บาท ต่ำสุด 25.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.37 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ล่าสุดปิดตลาดภาคเช้า อยู่ที่ระดับ 27.25 บาท ลดลง 1.50 บาท หรือ 5.50% สูงสุด 27 บาท ต่ำสุด 25.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.37 พันล้านบาท
โดย OSP เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร / อาหารและเครื่องดื่ม เมื่อวานนี้เป็นวันแรก (17 ต.ค.61) ซึ่งราคาหุ้นในวันนี้ปรับตัวลดลงจนเกือบหลุดราคา IPO ที่ระดับ 25 บาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า ปัจจัยที่กดดันราคาหุ้น OSP เป็นเรื่องของการทำรายการจำหน่ายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ในวันแรกที่เข้าทำการซื้อขาย โดยรายงานหลังปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ พบว่ามีการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (BIG LOT) หุ้น OSP จำนวน 36 รายการ รวม 135,168,700 หุ้น มูลค่าซื้อขายรวม 3,379.22 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 25 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ
โดยการทำรายการดังกล่าวเป็นการขายหุ้นของ นายนิติ โอสถานุเคราะห์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งแจ้งความประสงค์จะขายหุ้นสามัญเดิมของบริษัท จำนวน 135,168,700 หุ้น ในวันแรกที่หุ้น OSP เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการทำดีลผ่านการทำบิ๊กล็อตในราคาหุ้นละ 25 บาท
ทั้งนี้ภายหลังจากการทำรายการแล้ว นายนิติ โอสถานุเคราะห์ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเหลือในสัดส่วน 16.28% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จากเดิมถือหุ้นในสัดส่วน 25% หรือคิดเป็นจำนวน 624,250,000 หุ้น
นอกจากนี้ มีปัจจัยกดดันในเรื่องของภาวะดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยในช่วงที่ OSP กำหนดราคา IPO เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2561 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,720.52 จุด ซึ่งส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง จึงได้ตั้งราคาขาย IPO เป็น 25 บาท อย่างไรก็ตามในวันที่บริษัทฯ เข้าซื้อขายต่ำดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ต่ำกว่ากว่าระดับ 1,700 จุด ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อยจากระดับราคา IPO เท่าน้ัน
ขณะที่ OSP มีมูลค่าระดมทุนจากการขาย IPO ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาปรับปรุงการผลิตการจัดจำหน่ายสินค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพสินค้า จำนวน 5.39 พันล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท จำนวน 1.20 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทจะนำเงินระดัมทุนจำนวน 5.4-5.7 พันล้านบาท ไปใช้เงินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความกังวลในเรื่องของผลการดำเนินงานว่าจะไม่เติบโต เนื่องจากบริษัทจะมีการนำเนินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้คืนหนี้เงินกู้ยืมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีเม็ดเงินที่จะใช้ในการขยายธุรกิจเพียงเล็กน้อยเท่าน้ัน