“ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น”ยื่นไฟลิ่งขายIPO 75ล้านหุ้น ระดมทุนรับแผนขยายงานหนุนธุรกิจโตแกร่ง

“ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น” หรือ TQM ผู้นำธุรกิจโบรคเกอร์ประกันภัย ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.ขาย IPO จำนวน 75 ล้านหุ้น ระดมทุนรับแผนขยายงานหนุนธุรกิจโตแกร่ง โดยมี บล.ธนชาต และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TQM เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้

ปัจจุบัน บริษัทแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ให้บริการผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (TQM Broker)โดยมีการขายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยทั้งสิ้นกว่า 130 ผลิตภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มประกันรถยนต์ (Motor) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และกลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และกลุ่มประกัน Non-Motor ในรูปแบบประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันวินาศภัยเบ็ดเตล็ด เป็นต้น

2.ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต ดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (TQM Life) ซึ่งมีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตทั้งสิ้นกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมทั้งประกันชีวิตประเภทรายบุคคลและประกันชีวิตประเภทกลุ่ม, 3.ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ผ่านบริษัท แคสแมท จำกัด (Casmatt) ซึ่งครอบคลุมการให้คำปรึกษาด้านกระบวนการทางธุรกิจ งานวิจัยตลาดดิจิตอล เป็นต้น

และ 4.ธุรกิจให้บริการด้านคำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัย ผ่านบริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด (TQLD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม เพื่อเป็นช่องทางให้กับลูกค้าในการค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดเวลา ผ่านรูปแบบการกรอกข้อมูลของลูกค้า

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทประกันภัยกว่า 40 แห่ง มีพนักงานขายที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยให้บริการกว่า 2,000 คน ผ่านสาขาและศูนย์บริการทั่วประเทศรวม 95 แห่ง ที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

 

ด้านนางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQM เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจของบริษัทมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันทำให้โอกาสเติบโตมีมาก นอกจากนี้ อัตราการทำประกันภัยในประเทศไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยจากข้อมูลรายงานธุรกิจประกันประจำปี 2559 ของ สวีส รีอินชัวร์รัน ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำของโลก พบว่าธุรกิจประกันของประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศไทย มีสัดส่วนเบี้ยประกันรับรวมทุกประเภทต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Insurance Penetration) ที่ 5.42% หากพิจารณาเบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) พบว่า ประเทศไทยมีเบี้ยประกันภัยต่อคน (Insurance Density) เพียง 323.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (GDP) ต่อจำนวนประชากร ต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวจะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมประกันที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกในอนาคต โดยกลุ่มบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจนายหน้าประกันภัย จึงไม่มีความเสี่ยงด้านการดำรงเงินกองทุนฯและการบริหารผลตอบแทนจากเบี้ยประกันภัย

“ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกิจนายหน้าประกันภัยนั้นมีความท้าทายมากขึ้น ซึ่งบริษัทเห็นโอกาสนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายฐานลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ดีมากยิ่งขึ้น จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินและรักษาความเป็นผู้นำธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยให้แก่บริษัท อย่างยั่งยืน” นางนภัสนันท์ กล่าว

 

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน TQM มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาทมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น ในจำนวนนี้จะจัดสรรให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานบริษัท และ/หรือพนักงานบริษัทย่อย (ESOP) จำนวนไม่เกิน 11.25 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป

ขณะเดียวกัน นางสาวพันทิตา แซ่เอ็ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวานิชธนกิจ บล.ธนชาต ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม เปิดเผยว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงิน โดยจะระดมทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนาโครงการสำหรับปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจ โดยลงทุนในระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) การเพิ่มทุนชำระแล้วในบริษัทแกน ได้แก่ TQM Broker และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ

ทั้งนี้ บริษัทดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการนายหน้าประกันภัยปัจจุบันมีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก 2 บริษัท ได้แก่ TQM Broker ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย และ TQM Life ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันชีวิต

Back to top button