BA ร่วมวงชิง “ดิวตี้ฟรี” สุวรรณภูมิ-งานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาหลังมองธุรกิจการบินมาร์จิ้นต่ำ

BA โดดร่วมวงประมูล“ดิวตี้ฟรี”สุวรรณภูมิ-งานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาหลังมองธุรกิจการบินมาร์จิ้นต่ำ-แข่งขันสูง


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า บริษัทจะหันมาขยายรายได้ที่ไม่ใช่มาจากสายการบิน เพื่อชดเชยกับรายได้จากสายการบินที่ปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงจนอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ลดลงไปบางมาก แม้ว่าปัจจุบัน BA มีสัดส่วนรายได้หลักมาจากสายการบินกว่า 80%

ทั้งนี้ บริษัทจึงมีแผนจะเข้าร่วมประมูลสัมปทานบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีอาภร (ดิวตี้ฟรี) ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรยุโรปที่มีความชำนาญด้านธุรกิจดิวตี้ฟรีจำนวน 1-2 ราย คาดว่าจะข้อสรุปราวต้นเดือน ธ.ค.นี้ หรือก่อนที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT จะออกประกาศเชิญชวนในเดือนธ.ค.นี้

“คาดว่าการประมูลคงจะแข่งขันกันมาก คู่แข่งน่าจะมี 5-6 รายที่เข้าชิงงาน และหาก AOT เปิดประมูลแบบรายสินค้า หรือคัดเลือกเอกชนมากกว่า 1 ราย โอกาสที่ BA จะได้สัมปทานมีมากขึ้น” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ BA ยังสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งเปิดขายเอกสารในช่วงวันที่ 16-29 พ.ย.นี้ โดยมีทั้งงานอาคารผู้โดยสาร ลานจอดภาคพื้น เขตฟรีโซน คลังสินค้า โดยบริษัทจะหาพันธมิตรร่วมยื่นข้อเสนอให้กับกองทัพเรือที่เป็นเจ้าของโครงการ

ขณะเดียวกัน BA มีแผนจะลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เบื้องต้นหากลงทุนเอง 100% คาดว่าจะลงทุนในขนาดใกล้เคียงศูนย์ซ่อมฯที่สุโขทัย ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินได้คราวละ 2 ลำ ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1 พันล้านบาท การลงทุน MRO ช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถบริหารจัดการเครื่องบินได้ง่ายกว่า จัดลำดับฝูงบินได้คล่องตัว แต่หากได้พันธมิตรที่มีมาตรฐานของสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป(EASA) จะทำให้สามารถบริการสายการบินอื่นได้ด้วย

ทั้งนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA กล่าวว่า ด้านธุรกิจสายการบิน ในปี 62 บริษัทคาดว่าจะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ในระดับ 70% ใกล้เคียงกับปีนี้ หลัง 9 เดือนแรกปีนี้ทำได้แล้ว 69% และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตราว 3% รายได้จากธุรกิจสายการบินขยายตัว 3.5% ซึ่งรายได้ต่อหน่วย (yield) จะเติบโต 1% และที่นั่งเพิ่มขึ้น 3%

ส่วนในปีนี้คาดว่าจะสามารถรักษารายได้ต่อหน่วย (yield) ที่ระดับ 4.50-4.60 บาท แม้ว่ายอดผู้โดยสารจะเติบโตเพียง 1% จากเป้าหมายจะเติบโต 3-4% ทำให้ทั้งปีจะมีจำนวนผู้โดยสารปีนี้อยู่ที่ราว 6 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนลดลงหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต แต่บริษัทจะหันมาเน้นเส้นทางใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และเส้นทางระหว่างภาค ได้แก่ เชียงใหม่-กระบี่ ที่คาดเริ่มบินในกลางปี 62 จากที่บริษัทเปิดบินเส้นทางเชียงใหม่-ภูเก็ต และ เชียงใหม่-สมุย ได้รับการตอบรับดี และจะเพิ่มเที่ยวบินไปดานัง จาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 19 เที่ยวบิน/สัปดาห์

พร้อมกันนั้น บางกอกแอร์เวย์สจะเปิดเส้นทางตรงใหม่ระหว่าง กรุงเทพฯ-ญาจาง (เวียดนาม) โดยให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน เริ่มบิน 25 ม.ค.62. โดยใช้เครื่องบินแอร์วัน A319 ขนาด 144 ที่นั่ง เส้นทางนี้รองรับตลาดนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางมาพักผ่อนที่เมืองชายทะเลแห่งนี้ และนักท่องเที่ยวไทยที่แสวงหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ

ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนจะลงทุนเครื่องบินใหม่จำนวน 24 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวาง โดยมีแผนจะทยอยรับมอบภายใน 6 ปี (62-67) คาดว่าจะจัดหาโดยวิธีซื้อในสัดส่วน 60% และที่เหลือจะเป็นการเช่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิต 2 รายทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปีหน้า โดยบริษัทมีเงินทุนพร้อมจากส่วนที่เหลือจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนราว 6 พันล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่ถึง 1 เท่า จึงไม่มีปัญหาแหล่งเงินทุน

สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นความท้าทายของธุรกิจสายการบินนั้น ในปีนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยต้นทุนน้ำมันปรับขึ้นมาเป็นสัดส่วน 18% ของต้นทุนรวม จากเดิมอยู่ที่ 14% นอกจากนี้ในปีนี้บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันสูงถึง 70% และปรับปรุงการบินเพื่อประหยัดการใช้น้ำมันให้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังปรับเปลี่ยนระบบขายตั๋วออนไลน์เป็นระบบอมาดิอุส จากระบบเซเบอร์ ซึ่งจะทำให้เชื่อมต่อกันพันธมิตรสายการบินอื่นที่เป็นพันธมิตรบินร่วม (Code share) และคาดว่าจะเพิ่มการขายตั๋วผ่านออนไลนมากขึ้น จากปัจจุบันขายผ่านช่องทางออนไลน์ 16% ส่วนการขายตั๋วหลักๆยังอยู่ที่เอเย่นต์ กว่า 40% และผ่าน Code Share 26%

Back to top button