BA หงส์ในฝูงกา.!?

ถ้าพูดถึงหุ้นสายการบิน เห็นจะมีแต่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เจ้าเดียวเท่านั้น ที่งบไตรมาส 3/2561 กำไรเทิร์นอะราวด์ ขณะที่สายการบินอื่นไม่ว่าจะเป็นพี่ใหญ่ THAI และสายการบินโลว์คอสต์ อย่าง AAV และ NOK ต่างขาดทุนกันถ้วนหน้า


สำนักข่าวรัชดา

ถ้าพูดถึงหุ้นสายการบิน เห็นจะมีแต่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เจ้าเดียวเท่านั้น ที่งบไตรมาส 3/2561 กำไรเทิร์นอะราวด์ ขณะที่สายการบินอื่นไม่ว่าจะเป็นพี่ใหญ่ THAI และสายการบินโลว์คอสต์ อย่าง AAV และ NOK ต่างขาดทุนกันถ้วนหน้า

ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 BA พลิกกลับมามีกำไร 36.29 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 157.28 ล้านบาท มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 7,066.53 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 6,870.82 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ก็พลิกมามีกำไรที่ 663.83 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุน 142.52 ล้านบาท มีรายได้รวมเพิ่มเป็น 21,067.31 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 20,252.4 ล้านบาท

น่าสนใจว่า BA ทำได้อย่างไร ?? กลายเป็นหงส์เพียงตัวเดียวท่ามกลางฝูงอีกา..!!

ตัวการสำคัญที่ทำให้บรรดาหุ้นสายการบินปีกหักงบไตรมาส 3/2561 มาจาก 2 ปัจจัยหลัก เรื่องแรกต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยไตรมาส 3/2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 88.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 63.56 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อีกเรื่องเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์เรือโดยสารนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนถึง 29.3% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเดือนกันยายนลดลงถึง 14.9% เมื่อเทียบปีก่อน เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่ 0.9% และ 11.8%

แน่นอนว่า ปัจจัยเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น BA ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ไม่ต่างจากสายการบินอื่น แต่จุดต่างของ BA น่าจะมาจากการโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่งมากกว่าคนจีน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดูได้จากอัตราขนส่งผู้โดยสารในไตรมาส 3/2561 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 1,460,000 ล้านคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,526,500 ล้านคน ส่วน 9 เดือนมีจำนวนผู้โดยสารรวม 4,483,400 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4,444,900 ล้านคน

ขณะที่รายได้จากธุรกิจสนามบิน ซึ่ง BA เป็นเจ้าของสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด โดยในไตรมาส 3/2561 มีรายได้ 165.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 165.3 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกมีรายได้อยู่ที่ 492.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.8% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

จุดแข็งอีกอย่างของ BA มาจากการวางโพซิชันนิ่ง ที่ไม่ใช่สายการบินโลว์คอสต์ แต่เป็นสายการบินบูทีคแอร์ไลน์ ทำให้ไม่ต้องแข่งขันด้านราคา บวกกับการปรับกลยุทธ์ขายตั๋วเป็นตั๋วไลฟ์สไตล์ คือ ขายตั๋วพ่วงกิจกรรม เช่น กิจกรรมวิ่งมาราธอน กิจกรรมอนุรักษ์วิถีชุมชน โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่ง ทำให้สามารถขายตั๋วราคาแพงกว่าตั๋วโลว์คอสต์ทั่ว ๆ ไป

ถือเป็นวิชั่นของ “กัปตันเต๋” พุฒิพงศ์ ปราสาททอง ที่ชาญฉลาดมาก ๆ ดังนั้นแม้ประสบปัญหาราคาน้ำมันแพง ก็คงพอหักล้างกันได้

นอกจากนี้ การมีรูปแบบการให้บริการเฉพาะตัว มีเลานจ์ให้บริการชา กาแฟและของว่าง สำหรับผู้โดยสารที่ไม่ว่าจะซื้อตั๋วชั้นไหนก็ใช้บริการได้ ดูเหมือนจะได้ใจผู้โดยสารไปไม่น้อย และอาจเป็นจุดที่ทำให้ผู้โดยสารบางส่วนตัดสินใจซื้อตั๋ว BA เพราะอยากเข้าไปใช้บริการเลานจ์ โดยเฉพาะข้าวต้มมัด ที่ใคร ๆ ก็ยกนิ้วให้ว่า อร่อยมว๊ากกกก แทนการซื้อตั๋วสายการบินโลว์คอสต์ ก็ได้นะ !?

ส่วนการที่ BA เป็นกลุ่มเดียวกับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS นอกจากจะรับรู้รายได้จากเงินปันผลจากการลงทุนใน BDMS แล้ว ล่าสุดการที่ BDMS รุกเปิดตัวธุรกิจโรงแรมเพื่อต่อยอดจากธุรกิจคลินิกเพื่อสุขภาพ คงช่วยเอื้อธุรกิจให้ BA ได้ไม่น้อย

ด้านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สมุยบุรี หรือ SBPF ที่ BA เข้าไปลงทุนนั้น สร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ..!!

เหล่านี้เป็นปัจจัยที่หนุนให้ BA สามารถเอาตัวรอดได้ท่ามกลางวิกฤตน้ำมันราคาแพง ส่วนไตรมาส 4/2561 ที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของเกาะสมุยและทะเลฝั่งอ่าวไทย BA จะทำได้ดีแค่ไหน เป็นอีกซ็อตที่ต้องลุ้นกัน !!

…อิ อิ อิ…

Back to top button