SAAM ปลื้มกระแสจองซื้อ IPO ล้นหลาม ปักธงเทรด mai 7 ม.ค.62
SAAM ปลื้มกระแสจองซื้อ IPO ล้นหลาม ปักธงเทรด mai 7 ม.ค.62 โดยมี บล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAAM เปิดเผยว่า SAAM เป็นบริษัทผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอิสระ ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจมายาวนาน ประกอบกับมีจุดแข็งของพื้นฐานโมเดลธุรกิจที่มีความมั่นคงและแน่นอนของรายได้ระยะยาว (Recurring Income) อัตราการทำกำไรที่โดดเด่นจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และมีโอกาสเติบโตได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ SAAM ถือได้ว่าเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอิสระ บริษัทไทยรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีแผนในการขยายธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งจะสร้างการเติบโตในอนาคต โดยบริษัทฯ เตรียมพร้อมเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกในวันที่ 7 มกราคม 2562 ต้อนรับปีใหม่ เชื่อมั่นว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอน
“ช่วงที่ผ่านมา SAAM ได้นำเสนอข้อมูลบริษัทอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนให้ความสนใจและมีความเข้าใจในโมเดลธุรกิจของบริษัทฯ และรู้ถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมองเห็นแนวโน้มการเติบโตจากแผนการขยายธุรกิจในอนาคตที่ชัดเจน การเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น ซึ่งกำหนดราคาขายที่ 1.80 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 24-27 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ราคาหุ้นที่เสนอขายมีความสอดคล้องกับพื้นฐานและแผนการขยายธุรกิจในอนาคตของบริษัทฯ เมื่อ SAAM เข้าซื้อขายวันแรกจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอน” นายชาญชัย กล่าว
ด้านนายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAAM กล่าวอีกว่า การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจในการจองซื้อหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้หลังหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ บริษัทแบ่งสัดส่วนการใช้ดังนี้
1.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาจนเป็นโครงการที่พร้อมในการก่อสร้างเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้า ได้แก่ โครงการ SAAM Oita 01 Biomass Power และโครงการ SAAM Oita 02 Biomass Power ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 19.9 เมกะวัตต์ (MW) จำนวนไม่เกินโครงการละ 15.0 ล้านบาท ซึ่งเมื่อบริษัทฯ พัฒนาจนเป็นโครงการที่พร้อมในการก่อสร้างตามเงื่อนไขของสัญญา บริษัทฯ จะทำการโอนขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยให้แก่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าเข้าดำเนินการก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าภายใต้บริษัทย่อยดังกล่าวต่อไป
2.ใช้เป็นเงินทุนเพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวนไม่เกิน 50.0 ล้านบาท, 3. ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวนไม่เกิน 16.0 ล้านบาท ทำให้อัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ลดลง จากเดิมที่มี D/E อยู่ที่ 0.84 เท่า ส่งผลให้ฐานะทางการเงินมั่นคงมากยิ่งขึ้น และ 4. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานเพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 36.5 ล้านบาท
สำหรับ SAAM เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอิสระ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจ แบ่งเป็น ธุรกิจที่ 1 ธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยร่วมกับลูกค้า
โดยบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการเป็นรายเดือนภายใต้สัญญาระยะยาว 20 ถึง 25 ปี ซึ่งถือเป็น Passive Income จำนวน 17 โครงการ บนพื้นที่กว่า 750 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เพชรบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี และประจวบคีรีขันธ์ ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ใช้เวลาในการเข้าไปศึกษาและพัฒนาโครงการในประเทศญี่ปุ่นกว่า 2 ปี จนปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับอนุมัติใบสนับสนุนค่าไฟฟ้าในระบบ FiT ที่อัตรารับซื้อที่ 24 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง จำนวน 2 โครงการ ซึ่งเป็นอัตรารับซื้อที่สูง เป็นผลจากการที่บริษัทฯ เข้าไปพัฒนาก่อน
ได้แก่ โครงการ SAAM Oita 01 Biomass Power และโครงการ SAAM Oita 02 Biomass Power ปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 19.9 เมกะวัตต์ (MW) และบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโครงการอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาโครงการผ่านบริษัทย่อย อีกจำนวน 6 บริษัท และธุรกิจที่ 3 ธุรกิจลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
โดยปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้บริษัทย่อย ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 2 เมกะวัตต์ (MW) ในระบบ FiT ที่อัตรารับซื้อ 5.66 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยเริ่ม COD เมื่อเดือนธันวาคม 2558
“สำหรับงวด 9 เดือนแรก ปี 2561 ในธุรกิจที่ 1 คิดเป็น 76.5% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นรายได้ที่มั่งคงและแน่นอนในระยะยาว จากค่าตอบแทนจากการให้บริการที่เรียกเก็บรายเดือนจากลูกค้าตามอายุสัญญาระยะยาว 20 ถึง 25 ปี และธุรกิจของเราไม่ต้องกังวลถึงปัจจัยความเสี่ยงจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้า เช่น ปริมาณขายไฟฟ้า หรือประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาดการณ์ แต่บริษัทฯ มีการทำสัญญาระยะยาวที่รับรายได้ในรูปแบบค่าบริการคงที่ทุกเดือนตลอดอายุสัญญา ทำให้บริษัทฯ จะมีผลการดำเนินงานที่มั่นคงและแน่นอนในระยะยาว
ส่วนในธุรกิจที่ 3 คิดเป็น 23.5% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทฯ สามารถนำกระแสเงินสดที่ได้รับจากการขายไฟฟ้ามาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารภายในองค์กร โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น 71.20%-73.30% และอัตรากำไรสุทธิ 25.20%-41.80% โดยธุรกิจที่ 2 ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย จะเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคตอันใกล้ การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับกลุ่มบริษัทฯ ในระดับสากล” นายพดด้วง กล่าว