เลือกตั้งปิดปาก

กสทช.ประกาศิต วิทยุทีวีต้องเป็นกลางในการเลือกตั้ง อย่าชี้นำทางความคิด ก่อความขัดแย้งทางสังคม โดยอ้าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ไปจนกฎหมายความมั่นคง


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

กสทช.ประกาศิต วิทยุทีวีต้องเป็นกลางในการเลือกตั้ง อย่าชี้นำทางความคิด ก่อความขัดแย้งทางสังคม โดยอ้าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ไปจนกฎหมายความมั่นคง

ถามจริง เป็นกลางคืออะไร เพราะคงไม่มีทีวีช่องไหนโจ๋งครึ่ม “เลือกพรรคนี้นะครับ” ถามหน่อย ทำไมบังคับเฉพาะวิทยุทีวี แล้วหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ไลฟ์สด ต้องเป็นกลางไหม

คำว่า “สื่อเป็นกลาง” เป็นมายาคติสังคมไทย ซึ่งรัฐฉวยมาใช้ควบคุมสื่อ ทั้งที่จริง สื่อไม่สามารถเป็นกลาง เพราะต้องมีความเห็นไปทางใดทางหนึ่งอยู่ดี มีแต่สื่อดัดจริต ที่อ้างตนเป็นกลางทั้งที่บางเรื่อง ความเป็นกลางไม่มี เช่นความเป็นกลางระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ

จรรยาบรรณสื่อจึงไม่ใช่ “เป็นกลาง” แต่ต้องเสนอความจริง รอบด้าน ครบประเด็นสำคัญ ไม่บิดเบือน ขณะเดียวกันก็มีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งทำได้เต็มที่ ถ้าไม่ใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท หรือ hate speech ปลุกความเกลียดชัง

การบังคับ “สื่อต้องเป็นกลาง” ในการเลือกตั้ง จึงขีดวงเฉพาะสื่อรัฐ ซึ่งต้องเป็นกลางเช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย ที่รับงบประมาณจากภาษีประชาชน แต่สื่อเอกชนตั้งแต่ทีวีดิจิทัล ที่ซื้อใบอนุญาตจาก กสทช.ไปลงทุนเอง รับผิดชอบตัวเอง ไปจนกระทั่งหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ หรือแฟนเพจเฟซบุ๊ก เอาหลักการอะไรไปบังคับว่าต้อง “เป็นกลาง”

เบิ่งตาดูโลกบ้าง อย่ามัวแต่เคี้ยวเอื้อง ทีวีอเมริกัน หนังสือพิมพ์อังกฤษ เขาเลือกข้างเชียร์พรรคหนึ่งพรรคใดกันสุด ๆ ซึ่งดีด้วยซ้ำ คนดูคนอ่านจะได้รู้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่อีแอบว่าเป็นกลางแล้วหลอกคน

ในมุมหนึ่งมันเป็นทัศนคติตกยุค ตั้งแต่สมัยทีวีมีสี่ช่อง 3, 5, 7, 9 คิดว่าสื่อมีอิทธิพลชี้นำชาวบ้าน ลืมไปว่าปัจจุบันเรามีทีวี 24 ช่อง แข่งขันกันตาย มียูทูบ เฟซบุ๊กไลฟ์มากมาย ที่คนดูมากกว่าทีวีบางช่องด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นทัศนะรัฐขุนนาง มุ่งควบคุมสื่อ ควบคุมการเลือกตั้ง จำกัดเสรีภาพในการหาเสียง โดยอ้างค่าใช้จ่าย อ้างความเท่าเทียม เช่นที่ กกต.กำหนดว่า ผู้สมัครต้องมีผู้ช่วยแค่ 20 คน ประชาชนที่นิยมต้องยืนดูเฉย ๆ จะตั้งวอร์รูมคุมเฟซบุ๊กยูทูบที่เชียร์ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ทั้งที่ใครอยากเชียร์ใครถือเป็นเสรีภาพ ห้ามใช้สื่อใช้นักแสดงหาเสียง อ้าวถ้าเขารักชอบกันไม่ได้รับจ้าง ก็ไม่มีสิทธิแสดงความนิยมเลยหรือไร

ตลกร้ายคือ กกต.ไม่ห้ามสื่อหรือสถาบันการศึกษาจัดดีเบต แต่ต้องยึดหลักความเท่าเทียม ทีวีจะเชิญพรรคการเมืองไปออกอากาศก็ได้ แต่ต้องให้โอกาสทุกพรรคเท่าเทียม ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เพราะพรรคการเมืองมี 70-80 พรรค แต่ที่จะมีบทบาทสำคัญ ที่ประชาชนสนใจแค่สิบกว่าพรรค หากบังคับให้เท่าเทียมก็ไม่ต้องจัดดีเบต ไม่ต้องออกอากาศ ยิ่งถ้าบังคับให้เสนอข่าวทุกพรรคเท่าเทียม ก็ไม่ต้องเสนอข่าวเลือกตั้งเลย ขายข่าวดาราดราม่ากันไป

การเลือกตั้งแบบนี้จะต่างอะไรกับลงประชามติ ที่จับลิงมัด ปลดป้ายกาแฟกาโน หรือการเลือก ส.ว. “เงียบที่สุดในโลก” ห้ามสื่อเสนอข่าวเพราะห้ามหาเสียง ทั้งที่จะมาเป็นผู้แทนปวงชน แต่ประชาชนไม่มีส่วนรับรู้เลย

รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่ต้องเป็นกลาง กลับมาบังคับสื่อและประชาชนให้เป็นกลาง จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น กลัวทำอะไรก็ผิด ต้องนั่งพับเพียบดูการหาเสียง รอเข้าแถวไปลงคะแนนอย่างเป็นระเบียบ ตามที่รัฐต้องการ

ในขณะที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อรัฐ หรือ กกต.เอง เป็นกลางจริงหรือเปล่า ก็รู้กัน

 

Back to top button