JAS ต้องปันผล.!
เป็น “เงื่อนไขไฟต์บังคับ” ว่าเงินปันผลจากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เป็นส่วนหนึ่งในการชำระคืนหนี้ของ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS ที่มีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จากวงเงินกู้ไม่เกิน 42,500 ล้านบาท (เบิกใช้จริงประมาณ 22,000 ล้านบาท)
สำนักข่าวรัชดา
เป็น “เงื่อนไขไฟต์บังคับ” ว่าเงินปันผลจากบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เป็นส่วนหนึ่งในการชำระคืนหนี้ของ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS ที่มีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จากวงเงินกู้ไม่เกิน 42,500 ล้านบาท (เบิกใช้จริงประมาณ 22,000 ล้านบาท)
หนี้ก้อนโตที่ว่านี้..เกิดจาก “พิชญ์ โพธารามิก” ขอกู้เงินจาก SCB ในนามส่วนตัว..เพื่อนำไปตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น JAS และ JAS-W3 จากนักลงทุนทั่วไป (ช่วงเดือน ก.ย. 2559) โดยซื้อหุ้น JAS จำนวน 2,126.30 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 7.25 บาท มูลค่า 15,416 ล้านบาท และ JAS-W3 จำนวน 1,849.98 ล้านหน่วย ราคาหน่วยละ 3.68 บาท มูลค่า 6,808 ล้านบาท
นั่นเท่ากับว่า “พิชญ์” ใช้เงินกู้จาก SCB เพื่อการซื้อหุ้น JAS และ JAS-W3 ประมาณ 22,200 ล้านบาท
จากเงื่อนไข “การชำระหนี้คืน SCB จะมาจากปันผลที่ได้รับตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่ม” ตามที่ SCB ยอมรับและปล่อยกู้ให้ “พิชญ์” ซื้อหุ้นดังกล่าว ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมา JAS มีการประกาศจ่ายปันผล 6 ครั้ง (จากกำไรสะสม 4 ครั้ง และจากกำไรสุทธิ 2 ครั้ง) คิดรวมเป็น 1.25 บาทต่อหุ้น
นั่นทำให้ “เสี่ยพิชญ์” ได้รับเงินปันผลตามสัดส่วนถือหุ้น 67% ไปแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท..!!
จากตัวเลขเงินปันผลที่ “พิชญ์” รับไป..อาจนำไปชำระหนี้คืนให้กับ SCB ได้เพียงแค่ “ดอกเบี้ย” หรือเงินต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น..!!
เมื่อย้อนดูเงื่อนไขการชำระหนี้คืน SCB นั่นจึงเท่ากับว่า “พิชญ์” ต้องรีดเงินปันผลจาก JAS เพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้เพียงพอต่อการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ที่เหลือเกือบ 20,000 ล้านบาท
โจทย์จึงย้อนกลับไปที่ JAS ว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายปันผล (เพิ่มเติมอีก)..!!??
เมื่อสอดส่องดูงบการเงินสิ้นสุดงวด 9 เดือนปี 2561 พบว่า JAS มีกำไรสะสมเหลืออยู่บานเบอะกว่า 4,200 ล้านบาท และมีกระแสเงินเกือบ 1,000 ล้านบาท
นั่นเท่ากับว่า JAS อาจลอกตำราเล่มเดิม คือเอากำไรสะสมมาจ่ายปันผล..เฉกเช่นที่เคยทำมาแล้ว 4 ครั้งในรอบกว่า 2 ปี หลังจาก “พิชญ์” กู้ยืมเงินจาก SCB มาตั้งโต๊ะซื้อหุ้น JAS ดังกล่าว
อีกทางเลือกหนึ่งคือ “กำไรพิเศษ” (ว่ากันว่าตัวเลขไม่ต่ำ 10,000 ล้านบาท) จากขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานจัสมิน (JASIF) ครั้งที่ 2 ที่ทำให้ “พิชญ์” ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ..เพื่อนำไปชำระคืนหนี้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว..!?
แต่ว่า..ขั้นตอนการขายสินทรัพย์เข้า JASIF ดูจะเชื่องช้าแบบผิดสังเกต.!? จากกำหนดเดิมกลางปี 2561 มาถึงวันนี้เงียบกริบ..!! ติดขัดตรงไหน.! JAS ไม่พร้อม หรือ JASIF ไม่ชัดเจน..ไม่มีใครทราบได้..!!
เอาเถอะ..การขายสินทรัพย์เข้า JASIF ยังไงต้องเกิด..ด้วยเงื่อนไข JAS จำเป็นต้องจ่ายปันผล..
ไม่งั้น “พิชญ์” ต้องเสี่ยงอาจผิดเงื่อนไขการชำระคืนหนี้ SCB ก็เป็นได้..
แล้ว “พิชญ์” กับ SCB จะยอมไหมล่ะ..!??
…อิ อิ อิ…