SNC ปักธงยอดขายปีนี้โต 15% หลังปรับโครงสร้างธุรกิจ-ซื้อเครื่องจักรอัตโนมัติหวังลดต้นทุน
SNC ปักธงยอดขายปีนี้โต 15% หลังปรับโครงสร้างธุรกิจเน้นผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้น วางงบลงทุน 500 ลบ. สร้างโรงงาน-ซื้อเครื่องจักรอัตโนมัติหวังลดต้นทุน
นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขายปี 62 เติบโต 15% จากปีก่อน จากการปรับโครงสร้างธุรกิจในด้านต่างๆ ซึ่งตั้งเป้าเน้นสัดส่วนรายได้จากสายงานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเดิม 17% และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์เป็น 7% จากเดิม 4% และลดสัดส่วนชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศลงเหลือ 57% จากเดิม 62%
ประกอบกับบริษัทมีการนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติและแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามาใช้ ส่งผลให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น และทำให้ต้นทุนการขาย (cost of goods sold) ลดลง โดยบริษัทจะรักษาระดับการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ที่ระดับ 13%
ขณะเดียวกันบริษัทวางงบลงทุนปีนี้ราว 500 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนก่อสร้างโรงงานในจ.ระยอง จำนวน 350 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้จากเดิมที่บริษัทมีการเช่าโรงงานในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1/62 และเริ่มรู้รายได้ตามคำสั่งซื้อได้ช่วงไตรมาส 4/62 และอีก 150 ล้านบาท บริษัทจะใช้เพื่อลงทุนด้านเครื่องจักรระบบอัตโนมัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านค่าแรง
อย่างไรก็ดี บริษัทมีช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจอยู่ระหว่างปลายเดือนต.ค.ถึงปลายเดือนมี.ค. โดยมีการใช้อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 80% ส่วนช่วงโลว์ซีซั่นมีการใช้อัตรากำลังการผลิตที่ระดับ 40%
นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ที่ค้างอยู่ราว 548 ล้านบาทได้หมดภายในสิ้นปีนี้ จากแนวโน้มผลประกอบการมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำรายได้ที่มาจากการผลิตบางส่วนแบ่งชำระหนี้ด้วย ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เป็นการกู้เงินระยะยาวแทน
นอกจากนี้บริษัทสนใจเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะขนาดกำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ จ.ยะลา มูลค่ารวมราว 200-300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างเงื่อนไขการประกวดราคาและขอบเขตของงานหรือ TOR ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ช่วงหลังการเลือกตั้ง โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและคาดว่าจะไม่มีการกู้สถาบันการเงิน
สำหรับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท บริษัทมีการเจรจากับลูกค้าเพื่อปรับราคาขายตามความผันผวนของค่าเงินทุก 2 เดือน โดยเป็นการคืนส่วนต่างราคาขายระหว่างกัน จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันราว 70% ส่วนในประเทศ 30%
ส่วนสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากสหรัฐที่จะมีคำสั่งซื้อโดยตรงเข้ามามากขึ้น และจากการรับจ้างผลิตจากลูกค้าชาวจีนเพื่อส่งออกมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีลูกค้าจีนเข้ามาเจรจากว่า 10 ราย โดยบริษัทมองว่าจะมีความชัดเจนจำนวน 3 ราย จากเข้าเงื่อนไขข้อตกลงของบริษัท