BBL ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 62 โต 4-6% รับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-คาดการณ์ GDP โต 4%

BBL ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 62 โต 4-6% รับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-คาดการณ์ GDP โต 4%


นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 62 เติบโต 4-6% จากปีก่อนที่สินเชื่อเติบโต 4% โดยสินเชื่อแต่ละประเภทในปีนี้จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งเป้าเติบโต 6-7% สินเชื่อเอสเอ็มอี ตั้งเป้าโต 4-5% สินเชื่อรายย่อยตั้งเป้าโต 4-6% และสินเชื่อจากสาขาต่างประเทศโต 4-5%

สำหรับปัจจัยหนุนการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งมาจากการลงทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เริ่มทยอยออกมา ประกอบกับการวางรากฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคง และช่วยขับเคลื่อนให้เดินหน้าไปต่อได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่กังวลเป็นเรื่องสงครามการค้าที่จะกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อภาคธุรกิจด้วย แต่ธนาคารมองว่าปัจจัยในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 62 คาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.4% และการตั้งสำรองฯคาดว่าจะใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามธนาคารไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มหนี้เสียมากนัก เนื่องจากมีการดูแลลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนงบการลงทุนพัฒนาด้านดิจิทัลในปี 62 ธนาคารตั้งไว้ที่ 4-6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก ส่วนแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยธนาคารได้มีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับธนาคารกรุงเทพ สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมสตาร์ทอัพองธนาคารกรุงเทพ โดยธนาคารมีโครงการ InnoHub เป็นแหล่งบ่มเพาะ ทั้งนี้ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้สตาร์ทอัพสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมี Co-working Space ที่รองรับบริษัทสตาร์ทอัพจำนวน 10 บริษัท และกำลังสร้างพื้นที่เพิ่มเติมเป็น Deep Tech ณ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ โดยคาดว่าในระยะแรกจะมีนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงานในบริษัทสตาร์ทอัพที่เข้ามาตั้งในพื้นที่บ่มเพาะของมหาวิทยาลัย จำนวน 50 คน และจะใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบในการขยายไปสู่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ

Back to top button