7 โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” GFPT ลุ้นกำไรไตรมาส 1 แตะ 260 ลบ.รับปัจจัยบวก 2 เด้ง ชูเป้าสูง 18 บ.
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์หลังม …
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์หลังมีนักวิเคราะห์กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เนื่องจากมีแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/62 กำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นจากราคาไก่ฟื้นตัวขึ้น พร้อมกับเปิดตลาดส่งออกไปยังญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป (EU) และจีน เพิ่มขึ้น
ขณะที่ล่าสุด EU ได้ประกาศเพิ่มโควตานำเข้าไก่ไทย ส่วนตลาดจีนนำเข้าไก่ไทยมากขึ้นทดแทนไก่ที่มีปัญหาจากบราซิล นอกจากนั้น ยังรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุน “GFN” ที่พลิกฟื้นจากขาดทุนมาเป็น Breakeven และ “McKey” กำไรเพิ่มขึ้น ขานรับเพิ่มกำลังการผลิตไลน์ใหม่ เชื่อมั่นหนุนกำไรสุทธิปีนี้เติบโตก้าวกระโดด
โดยราคาหุ้น GFPT ปิดตลาดวานนี้ (11 เม.ย.62) ที่ระดับ
ด้านนางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้มีมุมมองเชิงบวกกับแนวโน้มผลประกอบการ GFPT โดยประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 233 ล้านบาท เติบโต 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรับรู้ยอดขายส่งออกไปจีนเข้ามาเพิ่มเติมเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 ที่ยังไม่มียอดส่งออกไปจีน ทำให้รายได้จากการส่งออกเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนยอดขายในประเทศ มีโอกาสเติบโตได้ดีตามทิศทางราคาไก่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคา By Products อย่างโครงไก่ในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 11 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 7-8 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 14.50%
นอกจากนี้ ยังรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุน ได้แก่ บริษัท จีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย) จำกัด (GFN) และบริษัท แมคคีย์ ฟู้ด เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (McKey) เพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 จากที่เคยขาดทุนสุทธิ 45 ล้านบาทเมื่อไตรมาส 1/61 โดยผลประกอบการของ McKey ดีขึ้นตามการใช้กำลังการผลิตโรงงานใหม่เพิ่มเป็น 70-80%
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผลักดันให้กำไรสุทธิทั้งปี 62 เติบโตก้าวกระโดดมาอยู่ที่ประมาณ 1.36 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากปีก่อนที่มีฐานต่ำ เพราะตั้งสำรองผลตอบแทนพนักงานตามกฎหมายใหม่ 110 ล้านบาทในไตรมาส 4/61 แต่ปีนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษเข้ามากระทบผลการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม โอกาสการปรับประมาณการผลการดำเนินงานต้องขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ ราคาไก่ในประเทศ และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ล่าสุดยังเป็นปัจจัยเอื้อกับการเติบโตผลการดำเนินงาน ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือโรคระบาด หากเกิดขึ้นมีโอกาสกระทบกับกำไรในทิศทางเชิงลบได้เช่นกัน
“แนวโน้มกำไร GFPT ปีนี้ เชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้โดดเด่น โดยยกให้เป็นหนึ่งใน Growth Stock ที่ฝ่ายวิจัยฯคัดเลือกไว้ในปีนี้ แม้ว่าล่าสุดราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ยังมีอัพไซด์ที่น่าสนใจถ้าเทียบกับมูลค่าที่เหมาะสม” นางสาวอาภาภรณ์ กล่าว
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินกำไรในไตรมาส 1/62 ของ GFPT ที่ระดับ 259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 6% จากไตรมาสก่อน เพราะนอกจากราคาไก่ที่ปรับตัวดีขึ้น ยังรับรู้กำไรบริษัทร่วมอย่าง “GFN” ที่ฟื้นจากขาดทุนเป็น Breakeven และ “McKey” จะมีกำไร 45-50 ล้านบาทต่อไตรมาส จากเดิมประมาณ 30-35 ล้านบาทต่อไตรมาส
ขณะเดียวกันยังสามารถเปิดตลาดส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งนำเข้าจากไทยมากขึ้นทดแทนไก่ที่มีปัญหาคุณภาพจากบราซิล โดยคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 8,000 ตัน เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ประเมินกำไรสุทธิทั้งปี 62 จะอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.5% จากปีที่แล้ว ตามทิศทางราคาไก่จะปรับตัวขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้ จากที่เคยเฉลี่ย 32 บาทต่อกิโลกรัมในปี 61
สำหรับราคาหุ้น GFPT เคยปรับฐานผลกระทบจากฤดูกาลและราคาไก่ที่อ่อนตัวลงเมื่อปลายปี 61 แต่ต้นปี62 ราคาไก่กลับมาฟื้นตัวขึ้น จึงมองว่าหุ้น GFPT ควรซื้อขายบน P/E 14 เท่า เป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี +1SD เป็นระดับที่ซื้อขายกันเมื่อธุรกิจไก่อยู่ในช่วงที่ดี จากเดิมที่ซื้อขายกันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อธุรกิจไก่ตกต่ำ ประเมินราคาพื้นฐานปี 62 อยู่ที่ 16 บาท
ด้านบล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินกำไรสุทธิของ GFPT ในปี 62 และปี 63 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 19% จากคาดการส่งออกในปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8% และรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุนเพิ่มขึ้นจาก “McKey” เป็นหลัก จากอัตรากำลังการผลิตไลน์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยคาด GFPT จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% จากงวดปีก่อน และ 4% จากไตรมาสก่อน ตามคาดการณ์รายได้เพิ่มขึ้น 3% จากงวดปีก่อน หลังการส่งออกเพิ่มขึ้นมาเป็น 7,800 ตันจากส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น 200-300 ตัน/เดือน เทียบกับปีที่ผ่านมาที่ไม่มีการส่งออก ปัจจุบัน GFPT ส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออก, ญี่ปุ่น 50%, EU 35% และมาเลเซีย 5%
นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ยังประเมินว่า GFPT ได้รับประโยชน์จากการที่ EU กำหนดปริมาณโควตานำเข้าสินค้าเนื้อไก่และสัตว์ปีกเพิ่มจากประเทศบราซิล ประเทศไทย และประเทศที่สามอื่น ๆ โดยเริ่มวันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นสัดส่วนเล็กน้อยโดยไทยได้โควตาเพิ่มขึ้น 5,460 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.2% มีมูลค่าประมาณ 650 ล้านบาท แบ่งเป็นไก่ปรุงสุก 5,060 ตัน และไก่สด 400 ตัน จากโควตาเดิมอยู่ที่ 252,000 ตัน แบ่งเป็นไก่ปรุงสุก 160,000 ตัน และไก่สด 92,000 ตัน สำหรับการส่งออกของไก่ไทยปี 61 มีการส่งออกไปกลุ่ม EU สัดส่วน 39% มูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท, ญี่ปุ่นมีสัดส่วน 49% มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มีสัดส่วน 14% มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท