4 โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” CK ลุ้นคว้างานต่อเนื่องหนุน Backlog แสนล้าน!
4 โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ “ซื้อ” CK ลุ้นคว้างานต่อเนื่องหนุน Backlog แสนล้าน!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK หลังบริษัทมีโอกาสได้รับงานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ Backlog เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับแสนล้านบาทอีกครั้ง อีกทั้ง CK ยังได้รับประโยชน์จากบริษัทร่วมทุน (CKP, BEM และ TTW) ทั้งในรูปเงินปันผลและกำไรจากการขายเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
โดย นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” CK ราคาเป้าหมาย 40 บาท/หุ้น (ยังไม่ได้รวมงานของรถไฟความเร็วสูง แต่คาดว่างานใหม่จะมีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท) เนื่องจาก 1) งานในมือที่เพิ่มขึ้น 2) ผลประกอบการของโครงการต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศรวมถึงบริษัทลูก และ 3) ราคาของ CK ที่ยังไม่แพงเมื่อรวมบริษัทลูก โดยเมื่อหักมูลค่าหนี้สุทธิแล้วบริษัทลูกทั้งหมดจะมีมูลค่า 27.35 บาท สูงกว่าราคาปัจจุบันของ CK
โดยคาดผลประกอบการไตรมาส 2/62 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน จากเงินปันผลรับจาก TTW แต่อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายของ S&A ที่เพิ่มขึ้น (จากค่าใช้จ่ายด้านบุคคล และการตั้งสำรองกฎหมายแรงงาน 20 ล้านบาท) จะกระทบการเติบโตเมื่อเทียบจากปีก่อน
ทั้งนี้ปัจจุบัน CK มีงานในมือ 4.43 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ หลังจากที่ CK เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดของทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง สัญญาที่ 4 มูลค่า 6.6 พันล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินจะเซ็นสัญญาในวันที่ 25 มิ.ย. โดยจะเป็นงานโยธา 1.19 แสนล้านบาท
สำหรับ CK และ ITD และอยู่ระหว่างการประมูลงานสนามบินอู่ตะเภา โดยมีงานที่อยู่ระหว่างการประมูลคือ ด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์ (27 มิ.ย.), โครงการ Mix-used ที่บางซื่อ (30 ก.ค.) รันเวย์ที่ 3 ของสนามบิน NBIA, ทางด่วนที่เมียนมา (ต.ค. 19) และส่วนต่อขยายทางด่วน 3.15 หมื่นล้านบาทของ BEM โดยคาดว่า CK จะได้งานบางส่วน แต่การเซ็นสัญญาจะยังต้องรอรัฐบาลใหม่ก่อน และเริ่มก่อสร้างในปีหน้า
ส่วน นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” CK ราคาเป้าหมาย 32 บาท/หุ้น โดยมองแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/62 คาดดีขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน หนุนจากการรับรู้เงินปันผลรับจาก TTW คงประมาณการกำไรปกติปี 2562 ที่ 1.8 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบจากปีก่อน) โดยคาดรายได้งานก่อสร้างทำได้ 2.8 หมื่นล้านบาท (ลดลง 3% เมือ่เทียบจากปีก่อน) บนการรับรู้จาก Backlog ปัจจุบันเท่านั้น มาจากโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตะวันออก และงาน M&E สีน้ำเงินต่อขยายเป็นหลัก ส่วนงานใหม่ที่ประมูลได้จะเริ่มก่อสร้าง และเป็นบวกต่อรายได้ตั้งแต่ปี 2563 รองรับการเติบโตอีก 3-5 ปีข้างหน้า
โดยบริษัทมีงานรอเซ็นอยู่ 8.6 พันล้านบาท หนุนให้งานในมือปัจจุบันที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญช่วยเพิ่มฐานงานในมือให้แตะ 1 แสนล้านบาทอีกครั้งในรอบ 4 ปี คาดเซ็นสัญญาภายใน 15 มิ.ย.นี้ เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน อย่างไรก็ดี คาดว่า CK จะได้งานจากโครงการดังกล่าวเข้ามาเติมราว 5 หมื่นล้านบาท บนสมมติฐานแบ่งงานโยธามูลค่า 1 แสนล้านบาทให้ CK และ ITD ในสัดส่วนเท่ากัน
นอกจากนี้ยังมีมุมมองบวกมากขึ้น จากงานประมูลภาครัฐที่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมขึ้น โดยประเมินว่า CK จะรับงานเพิ่มในปี 2562 อย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาท จากงานที่รอเซ็นอย่างรถไฟความเร็วสูง และงานที่อยู่ระหว่างการประมูล
โดยประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท โดย CK ยื่นซองร่วมกับกลุ่ม CP อยู่ระหว่างประเมินข้อเสนอ คาดประกาศผลเดือนมิ.ย. 2562 2) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช มูลค่า 7 พันล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 6 พันล้านบาท โดย BEM เป็นผู้ยื่นซองในวันที่ 27 มิ.ย. 2562 และ 3) โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ยื่นซอง 30 ก.ค. 2562
นอกจากนี้ คาดเห็นความคืบหน้าของโครงการใหญ่ ซึ่งอาจเปิดประมูลได้ในครึ่งหลังปี 2562 อาทิ รถไฟไทยจีน 7 สัญญา, รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎ์บูรณะ) มูลค่า 1 แสนล้านบาท และงานก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (อโศก-ประชาชื่น) ของ BEM มูลค่า 3.15 หมื่นล้านบาท รวมถึงงานจากต่างประเทศอย่าง โครงการทางด่วนย่างกุ้ง ประเทศพม่า มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างร่าง TOR คาดเปิดประมูลเดือนต.ค. 2562
ด้าน นักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น CK ประเมินราคาเป้าหมายที่ 30 บาท/หุ้น โดยคาดการณ์รายได้จากการก่อสร้างในปี 2562 ที่ 3 หมื่นล้านบาท หนุนจาก Backlog ที่มีอยู่ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท เพียงพอรับรู้รายได้ประมาณ 1.5 ปี ซึ่งนับว่ามี Backlog น้อยที่สุดเทียบในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม งานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางกลุ่มพันธมิตร CP (CK และ BEM ถือรวมกัน 15%) ได้ประกาศให้เป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการแล้ว คาด CK จะได้รับงานก่อสร้างโยธา มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้อาจมีงานก่อสร้างอื่น เช่น งานก่อสร้างอาคารในพื้นที่พัฒนามักกะสัน เพิ่มเติม และล่าสุด CK เป็นผู้ชนะทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองสัญญา 4 มูลค่า 6.6 พันล้านบาทเพิ่ม คาดลงนามสัญญาภายในเดือน มิ.ย. 62 และเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2562
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมาย CK ที่ 32.50 บาท/หุ้น โดยแนวโน้ม Backlog ดีขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ ประมาณ 42,268 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากงานที่อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ รพ.จุฬาฯ มูลค่า 2,019 ล้านบาท และเป็นผู้ประมูลราคาต่ำสุดโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง สัญญา 4 มูลค่า ประมาณ 6,636 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดลงนาม 15 มิ.ย.2562 เบื้องต้นคาดมูลค่างานก่อสร้างในส่วนของ CK ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท คาดช่วยเพิ่ม Backlog ของ CK เป็น ประมาณ 80,000 ล้านบาท
ขณะที่ในระยะยาว CK ยังมีโอกาสรับงานเพิ่มจากบริษัทร่วมทุน โดยเฉพาะ CKP ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เบื้องต้นคาดเข้ามาช่วยชดเชยงานก่อสร้างโครงการไซยะบุรีที่กำหนด COD ต.ค. นี้ คาดมูลค่างานก่อสร้างใกล้เคียง ไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท คาดทำให้ Backlog เพิ่มขึ้นโดดเด่นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังรอผลประมูลโครงการก่อสร้างทางด่วนย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา มูลค่า 400 ล้านUSD ที่เข้าร่วมประมูลกับ Partner
อีกทั้ง CK ยังได้รับประโยชน์จากบริษัทร่วมทุน (CKP, BEM และ TTW) ทั้งในรูปเงินปันผลและกำไรจากการขายเงินลงทุน คาดช่วยลดความผันผวนจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และช่วยให้ CK สามารถรักษากำไรสุทธิ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี