NOK มั่นใจปีนี้หยุดขาดทุนหลัง Q1/62 ต้นทุนลด-อัตราใช้เครื่องบินสูง
NOK มั่นใจปีนี้หยุดขาดทุนหลัง Q1 ต้นทุนลด-อัตราใช้เครื่องบินมากขึ้น วางแผนเพิ่มสัดส่วนบินตปท.เป็น 40%
นายทวีชัย อัจฉริยแพศว์กูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ในปีนี้ฝ่ายบริหารมั่นใจว่าจะสามารถหยุดขาดทุนได้ แต่ไม่นับรวมปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งเรื่องราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน เนื่องจากไตรมาส 1/62 ที่เริ่มเห็นผลของการปลดเครื่องบินใบพัด ATR 2 ลำ ทำให้บริษัทมีฝูงบินเหลือ 23 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 15 ลำ และเครื่องบินใบพัด Q-400 จำนวน 8 ลำ สามารถทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดต่ำลง และค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงก็ลดลงอย่างมาก โดยต้นทุนต่อหน่วยลดลง 6.8% เทียบกับไตรมาส 4/61 รวมทั้งต้นทุนโดยรวมก็ลดลงด้วย
นอกจากนั้น บริษัทยังมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำดีขึ้นมาที่ 9.71 ชม./วัน จากไตรมาส 4/61 อยู่ที่ 9.48 ชม./วัน ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำให้ใกล้เคียงมาตรฐานที่ 12 ชม./วัน ด้วยการขยายเส้นทางต่างประเทศมากขึ้นที่มีรัศมีทำการบิน 5.15 ชม.
ทั้งนี้ บริษัทวางแผนภายใน 3 ปี (ปี 62-64) จะปรับสัดส่วนเส้นทางบินต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 40% จาก 20% ในปัจจุบัน และลดสัดส่วนเส้นทางในประเทศเหลือ 60% จาก 80% ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนของบริษัทลดลงทั้งเรื่องการซ่อมบำรุง และทำให้อัตราการใช้เครื่องบินดีขึ้นอีก
โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา NOK ได้ทดสอบทำการบินเที่ยวบินเช่าเหมาลำไปญี่ปุ่นในเส้นทางกรุงเทพ-ฮิโรชิม่า จำนวน 4 เที่ยวบินได้รับการตอบรับดีมาก เพราะตรงกับช่วงวันหยุดเทศกาล Golden Week ของญี่ปุ่น โดยมีผู้โดยสารจากฮิโรชิม่าเต็มลำ ซึ่งถือว่าเป็นเที่ยวบินแรกที่บินตรงเข้ากรุงเทพ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปยังฮิโรชิมามีอัตรา 50% เพราะที่พักช่วงนั้นราคาสูงในข่วงวันหยุดยาวของญี่ปุ่น ทั้งนี้ บริษัทจะทำการบินประจำเที่ยวบินกรุงเทพ(ดอนเมือง)-ฮิโรชิม่า ในปลายไตรมาส 3/62 หรือต้นไตรมาส 4/62 นอกจากนั้น ยังจะเปิดทำการบินในอินเดีย 2 เมืองในไตรมาส 4/62 ด้วย
ประกอบกับสายการบินนกแอร์ได้ผนึกความร่วมมือกับสายการบินนกสกู๊ด ในการขายตั๋วแบบผูกไฟลท์ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ โดยเริ่มจากเชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ บินเข้ากรุงเทพ (ดอนเมือง) ทำการบินโดยนกแอร์ ไปยังเส้นทางบินต่างประเทศ อาทิ โตเกียว, โอซาก้า ,ไทเป, จีน ทำการบินโดยนกสกู๊ต ทำให้สามารถจับกลุ่มลูกค้าใหม่ได้
ส่วนความร่วมมือกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ในกลุ่มไทยกรุ๊ป นั้น นายทวีชัย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอ รมว.คมนาคมคนใหม่ที่กำกับดูแลการบินไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ THAI ในเรื่องโค้ดแชร์ เส้นทางไปแม่ฮ่องสอน การร่วมจัดซื้อน้ำมันรวมทั้งการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ด้วย
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูธุรกิจที่ NOK ได้วางไว้ก็เป็นไปตามแผนได้แก่ จัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ, การขยายเส้นทางไปสู่ต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลดลง , เพิ่มรายได้ต่อหน่วย (Yield) , หารายได้เสริม , จับมือพันธมิตร อาทิ นกสกู๊ต และ การควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้ต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ณ สิ้นไตรมาส 1/62 ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 17.01% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว และยังคงขึ้นเครื่องหมาย C ต่อไป