ก.ล.ต.เชือด “อ๋า IFEC” ปั่น TSR จับตา OCEAN คิวต่อไป!? ลือเคยเสนอตัวทำ PSTC ด้วย

ก.ล.ต.เชือด “อ๋า IFEC” ปั่น TSR จับตา OCEAN คิวต่อไป!? ลือเคยเสนอตัวทำ PSTC ด้วย


หนังสือพิมพ์รายวัน ข่าวหุ้นธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 4 มิ.ย.62 รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 8 ราย กรณีทำให้สภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSR ผิดไปจากสภาพปกติของตลาดในช่วงระหว่างวันที่ 7 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2558 โดยทำให้ราคาปิดเพิ่มสูงขึ้นจากหุ้นละ 6.30 บาท เป็นราคา 9.70 บาท หรือเพิ่มขึ้น 54% และมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยบุคคลทั้ง 8 รายที่ว่านี้ ประกอบด้วย (1) นายวีรวัฒน์ แจ้งอยู่ (2) นายธีระ ดีสวัสดิ์ (3) นายสุรพล สุดหอม (4) นางสาวสุพัชรี (ชื่อเดิม สิริรักษ์) จักรวิธานนิเทศ (5) นายสิทธวีร์ พิชญเรืองกิตติ์ (6) นายวัชรชัย วัชรธรรม (7) นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ และ (8) นางกนกวรรณ พรทรัพย์อนันต์

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ระบุอีกว่า นายวีรวัฒน์ กับนายสิทธิชัยซึ่งต่างเป็นตัวการร่วม ได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีพฤติกรรมปิดบังอำพราง เพื่อไม่ให้ตรวจพบการกระทำความผิด ด้วยการจัดหาและใช้บัญชีหลักทรัพย์ของตนเองและของผู้กระทำความผิดอื่นสลับกันเข้าซื้อขายหุ้น TSR ในลักษณะอำพรางให้บุคคลอื่นหลงผิดเกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหุ้น TSR และต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน หรือ 54 วันทำการ เพื่อจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าซื้อหรือขายตาม

นอกจากนี้ นายวีรวัฒน์ยังมีพฤติกรรมปกปิดแหล่งที่มาที่ไปของเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น TSR ในบัญชีของบุคคลลำดับที่ (2)-(5) และมีนายวัชรชัยช่วยเหลือในการจัดการฝากถอนเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น TSR ของบัญชีหลักทรัพย์ภายในกลุ่ม ขณะที่นายสิทธิชัยได้ซื้อขายหุ้น TSR ในบัญชีของนางกนกวรรณซึ่งเป็นภรรยา

สำหรับการกระทำดังกล่าวข้างต้นของบุคคลทั้ง 8 ราย เป็นความผิดหลายมาตราแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์) และเป็นความผิดที่สามารถดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งได้

ด้านคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) จึงมีมติให้ก.ล.ต.นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 8 ราย โดยกำหนดให้นายวีรวัฒน์ชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 500,000 บาท อันเป็นจำนวนค่าปรับทางแพ่งขั้นต่ำตามกฎหมาย และให้นายสิทธิชัยชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 4,508,452.50 บาท

ส่วนผู้กระทำความผิดที่เหลือชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 333,333.33 บาท ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดทั้ง 8 ราย ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ค.ม.พ.กำหนด ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ การที่ค.ม.พ.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดทั้ง 8 ราย เป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 8 ราย เข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศคณะกรรมการก.ล.ต.ที่ กจ.3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560 ด้วย โดยก.ล.ต.จะพิจารณาเมื่อบุคคลทั้ง 8 รายเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิทธิชัย เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งก่อนหน้านี้ อย่างในปี 2556 บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม) หรือ IFEC มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหาร

โดยหลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏชื่อนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 พร้อมกับมีชื่อนางกนกวรรณ พรทรัพย์อนันต์ ภรรยานายสิทธิชัย ร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

สำหรับข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 3 ต.ค. 2557 ระบุชื่อนางกนกวรรณเป็นผู้ถือครองหุ้นสูงสุดเป็นอันดับ 5 ด้วยสัดส่วน 1.87% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยภายหลังเพิ่มเป็น 4.57% ณ วันที่ 1 เม.ย. 2558, 5% ณ วันที่ 15 ก.ย. ปีเดียวกัน, 5.29% ณ วันที่ 1 เม.ย. 2559 และเริ่มลดลงตั้งแต่ ณ วันที่ 16 ม.ค. 2560 มาอยู่ที่ 3.02% ขณะที่สัดส่วนล่าสุด ณ วันที่ 23 พ.ย. 2561 อยู่ที่ 1.91%

ทั้งนี้ ไม่มีรายงานการถือครองหุ้น IFEC ของนายสิทธิชัย แต่เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า นายสิทธิชัยอาจมีพฤติกรรม หรือใช้วิธีการในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ มีการซื้อขายหุ้นในบัญชีของภรรยาตนเองหรือไม่ เนื่องจากราคาหุ้น IFEC ปรับตัวขึ้น-ลงแรง หรือมีส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงเวลาที่นายสิทธิชัยดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัท

นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายสิทธิชัย มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นทางการในการเข้าซื้อกิจการ บริษัท โอเชี่ยน คอมเมิรช จำกัด (มหาชน) หรือ OCEAN ในฐานะผู้จัดหาผู้จะซื้อ-จะขาย และให้บริการในการบริหารมูลค่ากิจการก่อนหน้าและภายหลังการเข้าทำรายการ โดยนางชัชชญา ไตรตระกูลชัย เจ้าของกลุ่มกิจการ “ละแมน้ำมันปาล์ม” และเป็นลูกสะใภ้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มยี่ห้อดังแห่งหนึ่ง เริ่มเข้าซื้อหุ้น OCEAN จากกลุ่ม “วิไลเลิศโภคา” ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2561 เป็นต้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสวมธุรกิจปาล์มน้ำมันเข้ามาเป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่มีรายงานการถือหุ้นของนายสิทธิชัย หรือภรรยา ใน OCEAN แต่ไม่เป็นที่ยืนยันว่า นายสิทธิชัยไม่ได้มีการถือครองหุ้นผ่านบัญชีผู้อื่น เพื่อดำเนินการบริหารมูลค่ากิจการตามฐานะรับผิดชอบที่กล่าวข้างต้นหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังนางชัชชญาทำรายการแล้ว

โดยข้อมูล ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2561 แสดงว่า นอกเหนือจากนางชัชชญา ยังปรากฏชื่อ “UOB KAY HIAN PRIVATE” ถือหุ้นในสัดส่วน 9.79%, นายพรชัย สุรทศพร 1.53%, นายมารชัย กองบุญมา 1.09%, นายประพาศ ภูศรี 1.01%, นางสาวธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล 0.86%, และนายพิชิต วิทยเมธ 0.52% ซึ่งทั้งหมดไม่เคยปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ OCEAN มาก่อนหน้านี้ กล่าวคือ มีชื่อเข้ามาถือหุ้นพร้อมกัน หรือในช่วงเวลาใกล้เคียงกับนางชัชชญา

ทั้งนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายกิจการ “OCEAN-ละแมฯ” หลายราย เคยเปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” และสื่อฯ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีกหลายฝ่ายว่า นายสิทธิชัยเป็นผู้ชักจูง ประสาน และดำเนินแผนการในการเข้าซื้อกิจการของนางชัชชญา แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า นายสิทธิชัยได้รับผลตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ในรูปแบบใด

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเกิดขึ้นเกี่ยวกับการที่นายสิทธิชัย เคยพยายามติดต่อไปยังหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC เพื่อขอให้บริการบริหารราคาหุ้น แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวทันที

นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายสิทธิชัยยังมีพฤติกรรมในลักษณะของการเสนอตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมประเภทต่าง ๆ ซึ่งล่าสุดรวมถึงกรณีของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ด้วย

Back to top button