“คมนาคม” เรียกข้อมูล “เทอร์มินัล 2” สุวรรณภูมิเพิ่ม ฟาก AOT ยันจำเป็นต้องสร้าง!!
“คมนาคม” เรียกข้อมูล “เทอร์มินัล 2” สุวรรณภูมิเพิ่ม ฟาก AOT ยันจำเป็นต้องสร้าง!!
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมกรณีขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ ว่า กระทรวงคมนาคม ได้หารือถึงโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) โดยให้ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) กลับไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกประเด็น
เนื่องจากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบิน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กระทบต่อแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.ยังไม่สามารถอธิบายได้ครบถ้วน
นอกจากนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มียุทธศาสตร์การขนส่งทางอากาศ ของประเทศไทย เป็นแผนแม่บท การพัฒนาสนามบินทั่วประเทศ แผนด้านสายการบิน แผนงานด้านกำกับดูแล และแผนการบริหารน่านฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในระยะ 15 ปี ซึ่งทอท.จะต้องนำไปประกอบการศึกษาเพื่อให้การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลัก
“ทอท.ทำธุรกิจ จำเป็นต้องลงทุน เพื่อลูกค้า เพื่อสายการบิน แต่การพัฒนาจะมองเฉพาะสนามบินของตัวเองไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่า ยังมีสนามบินอู่ตะเภา สนามบินภูมิภาคอีกทั่วประเทศ ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกัน ต่างคนต่างพัฒนาไม่ได้หากทอท.จะพัฒนาสุวรรณภูมิเต็มที่ อาจจะทำให้อู่ตะเภาไม่เกิดตามยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมและสศช. มีหน้าที่มองในภาพรวม มองในแง่การลงทุนมีความเหมาะสมหรือไม่ในภาพรวมของประเทศ”
ด้านนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจ กับความเห็นของ สศช.และคมนาคม ถึงข้อกังวลในเรื่องขีดความสามารถและผลกระทบจากโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
อย่างไรก็ดี ทอท. ยังยืนยันความจำเป็นของเทอร์มินอล 2 โดยขณะนี้ทอท.ได้ศึกษาวางแปลนของเทอร์มินอล 2 เป็นการออกแบบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งได้ปรับพื้นที่ การใช้งาน เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารจาก 20 ล้านคนเป็น 30 ล้านคนต่อปี พร้อมกับให้ผู้ใช้ทั้งผู้ประกอบการ สายการบิน สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อให้มีส่วนร่วมในการวางแปลน ให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด