GGC ชี้ผลงานครึ่งปีหลังโตรับราคา B100 พุ่ง-เปิดกำลังการผลิตเต็มกำลัง
GGC ชี้ผลงานครึ่งปีหลังโตรับราคา B100 พุ่ง-เปิดกำลังการผลิตเต็มกำลัง
นายวิทูร ซื่อวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปีนี้ดีกว่าในครึ่งปีแรก จากปริมาณขายและราคาไบโอดีเซล (B100) ที่ดีขึ้น หลังรัฐบาลผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และการนำไปผสมเพิ่มขึ้นในน้ำมันดีเซล เป็น B10 และ B20 ซึ่งมีส่วนผสม B100 ในสัดส่วน 10% และ 20% ตามลำดับ ผลักดันให้ราคา CPO และ B100 เพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้บริษัทดำเนินการผลิตเต็มที่ หลังจากที่ได้หยุดซ่อมบำรุงตามแผนงาน สำหรับโรงงานเมทิลเอสเทอร์ (B100) แห่งที่ 1 และโรงงานแฟตตี้แอลกอฮอล์ ในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
“ไตรมาส 2 เรามี shutdown ประจำปี ก็จะชะงักเล็กน้อยปริมาณการขายก็จะลดลง แต่ครึ่งหลังไม่มีแล้ว ตอนนี้รัฐบาลก็มาช่วยดูดซับปริมาณ CPO ทำให้ราคาขึ้นมาอยู่ที่ราว 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ราคา B100 ก็ดีขึ้นด้วย ก็น่าจะทำให้ผลประกอบการในครึ่งปีหลังดีขึ้น”นายวิทูร กล่าว
ขณะที่คาดว่าปริมาณขาย B100 ในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับระดับ 3.7 แสนตันในปีที่แล้ว แม้ว่าบริษัทจะเริ่มเดินเครื่องโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็มีหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานแห่งแรกในช่วงไตรมาส 2/62 ขณะที่การส่งออก B100 ในปัจจุบันทำได้แล้วกว่า 6.8 พันตัน โดยเป็นการส่งออกไปจีนและยุโรป ส่วนจะมีการส่งออกเพิ่มเติมหรือไม่นั้นยังต้องรอดูทิศทางตลาดด้วย โดยเฉพาะหากมีความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นก็จะหันมาขายในประเทศซึ่งได้ราคาดีกว่า
ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์ ของบริษัทนั้นปัจจุบันมีการผลิตเต็มกำลังแล้ว โดยแฟตตี้แอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตเครื่องสำอาง สารลดแรงตึงผิว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดนั้น ก็มองโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการรุกขายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มที่มีมาร์จิ้นดีอย่างกลุ่มเครื่องสำอางเป็นหลัก
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการ”นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” (Nakhon Sawan Biocomplex : NBC) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับกลุ่มบมจ.เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เพื่อทำไบโอคอมเพล็กซ์ครบวงจรที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้รับเหมาเพื่อดำเนินโครงการระยะที่ 1 ซึ่งมีมูลค่าลงทุน 7.5 พันล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังผลิต 2.4 หมื่นตัน/วัน ,การก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล 6 แสนลิตร/วัน และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ (MW) และไอน้ำ 475 ตัน/ชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ และจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/64
ทั้งนี้การดำเนินโครงการระยะที่ 2 ที่จะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทั้งด้านเทคโนโลยีและการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่จะลงทุน และหาพันธมิตรร่วมลงทุนซึ่งอาจจะมีทั้งต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยีและการตลาดเข้าร่วมลงทุนด้วย โดยคาดว่าจะสรุปแผนลงทุนทั้งหมดได้ในปี 63 ก่อนเริ่มพัฒนาโครงการเพื่อให้พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 1/66
สำหรับโครงการระยะที่ 2 จะประกอบด้วยกลุ่มไบโอพลาสติก และไบโอเคมิคอล ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีอยู่หลายประเภท ซึ่งรวมถึงชนิด Polylactic Acid (PLA) ที่มีการใช้มากที่สุดของกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขเงินลงทุนในระยะที่ 2 ได้เพราะต้องรอดูเทคโนโลยีและกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทก่อน
ทั้งนี้ ปัจจุบันทิศทางตลาดผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกมีเพิ่มขึ้นตามเทรนด์การดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้ตลาด PLA ทั่วโลกเติบโตราว 10% ต่อปี
ด้านนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า ความต้องการใช้ไบโอพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีความต้องการไม่ถึง 1% ของการใช้พลาสติกทั่วโลก ซึ่งเป็นไปตามกระแสการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงในประเทศไทยที่เริ่มมีการรณรงค์ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก และรัฐบาลก็มีการส่งเสริมการใช้ไบโอพลาสติก ด้วยการให้นำค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไปหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ 125% แต่หากมีการสนับสนุนด้านฝั่งดีมานด์เพิ่มเติมก็เชื่อว่าจะทำให้การเติบโตดีขึ้นอีก