รมว.พลังงาน สั่ง PTT ยืดอุดหนุนราคา LPG-ตรึง NGV รถสาธารณะยาวถึงก.ย. อุ้มผู้มีรายได้น้อย
รมว.พลังงาน สั่ง PTT ยืดอุดหนุนราคา LPG-ตรึง NGV รถสาธารณะยาวถึงก.ย. อุ้มผู้มีรายได้น้อย-หาบเร่
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงานเรื่องการขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนด้านพลังงาน ว่า เรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนนั้น จะมุ่งเน้นมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับแรก
โดยเรื่องแรกได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเรื่องราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับผู้มีรายได้น้อย และหาบเร่แผงลอย โดยประสานให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ขยายเวลาการช่วยเหลือออกไปอีก 2 เดือน คือไปจนถึงเดือนกันยายน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้สามารถนำนโยบายการช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงพลังงานไปเชื่อมโยงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ การอุดหนุนราคา LPG สำหรับผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ปตท.ได้ลดการช่วยเหลือตามการใช้จริงจากเดิมไม่เกิน 150 กิโลกรัม (กก.) /เดือน เป็นไม่เกิน 75 กก./เดือน โดยอุดหนุนราคา 37.50 บาท/ถัง 15 กก. ปัจจุบัน ปตท. แบกรับภาระราคา LPG อยู่ที่ 30 ล้านบาท/เดือน ส่วนราคา LPG ภาคครัวเรือนที่ยังตรึงไว้ที่ 363 บาท/ถัง 15 กก.นั้นเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ยังให้ปตท.ตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะออกไปอีก 2 เดือน ถึงสิ้นเดือนก.ย.นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้กบง.อนุมัติให้ปตท.ทยอยปรับขึ้นราคา NGV ครั้งละ 1 บาท/กิโลกรัม จำนวน 3 ครั้ง โดยขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 พ.ค.62 ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ก.ย. 62 และครั้งที่ 3 วันที่ 16 ม.ค.63 นั้น ที่ผ่านมาปตท.ได้ปรับขึ้นมาแล้ว 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 11.62 บาท/กิโลกรัม ทำให้หลังจากนี้ปตท.จะต้องตรึงราคา NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะที่ระดับเดิมออกไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย. ขณะที่ราคา NGV สำหรับรถทั่วไปอยู่ที่ 15.85 บาท/กก. ทำให้ปัจจุบันปตท.ยังคงรับภาระอุดหนุนราคา NGV สำหรับรถโดยสาธารณะกว่า 4 บาท/กก.
เรื่องที่ 2 จะดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนเรื่องภัยแล้ง ซึ่งได้มอบหมายให้พลังงานจังหวัด ไปสำรวจพื้นที่ที่รับผิดชอบว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้าง เพื่อให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเรื่องระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บ่อบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการไว้อยู่แล้ว โดยในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เตรียมลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
เรื่องที่ 3 แนวทางแก้ปัญหาเรื่องราคาปาล์มน้ำมันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระทรวงพลังงาน ได้มีการเสนอแผนระยะสั้น และระยะกลางให้กับคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติถึงแนวทางที่เหมาะสม โดยแผนระยะสั้นได้มอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการช่วยเหลือตามแนวทางที่เคยดำเนินการไว้ ส่วนแผนระยะกลางจะมีการขับเคลื่อนการใช้ B10 และ B20 ให้ชัดเจน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและเหมาะสม
ส่วนกรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณ ของผู้ที่ได้รับสัมปทานในปัจจุบันและจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุตินั้น เบื้องต้นได้รับฟังรายละเอียดและมอบแนวทางการดำเนินงานให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปจัดทำรายละเอียด เพื่อนำรายละเอียดทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อนำไปสู่การเจรจาที่ได้ข้อยุติที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
ส่วนกรณีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว ปี 2561-2580 (PDP2018) นั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวิเคราะห์ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ว่าจะต้องทบทวนหรือไม่