SCC หั่นเป้ายอดขายปีนี้หดตัว 9-10% เซ่นบาทแข็ง-ราคาขายลด เร่งวางกลยุทธ์รับมือศก.ผันผวน
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ปรับลดเป้าย …
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ปรับลดเป้ายอดขายปีนี้เหลือหดตัว 9-10% จากเดิมที่คาดโต 5-10% เมื่อเทียบกับระดับ 4.78 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว หลังได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้ากระทบต่อราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขณะที่แนวโน้มครึ่งหลังของปีนี้ราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ยังจะถูกซ้ำเติมจากซัพพลายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดด้วย
พร้อมวาง 2 กลยุทธ์รับมือเศรษฐกิจผันผวน หนึ่งในนั้นเป็นการทบทวนโครงการลงทุน ด้วยการชะลอพัฒนาโครงการใหม่ เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมา แต่ยังเดินหน้าซื้อกิจการที่ดีและสร้างผลตอบแทนกลับมาได้รวดเร็ว โดยล่าสุดได้เข้าซื้อหุ้น 55% ใน Fajar ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซีย ทำให้ปรับเพิ่มงบลงทุนในปีนี้เป็น 7-7.5 หมื่นล้านบาท แต่การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะช่วยหนุนรับรู้ผลดำเนินงานเข้ามาทันทีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ทั้งนี้ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของเอสซีจี เปิดเผยว่า ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนกำไรมากที่สุดของเอสซีจีจะยังถูกกระทบจากวัฏจักรของธุรกิจที่จะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาในตลาดโลกช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็จะกระทบต่อตลาดมากขึ้นหลังจากที่ราคาสินค้าปรับลดลงในช่วงครึ่งปีแรก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
“แผนที่ตั้งไว้ตอนนี้ที่คิดว่าจะเพิ่มขึ้นคงไม่ได้ ถ้าดูตัวเลขจะมี 2 ตัวในแง่ยอดขาย 6 เดือนแรกลดลง 9% แต่ในแง่ปริมาณการขายส่วนใหญ่แล้วคงที่ แต่มีบางส่วนเพิ่มขึ้น แต่จะเห็นว่าราคาขายลดลง เช่น เม็ดพลาสติกราคาขายโดยเฉลี่ยลดลง 20% คิดราคาขายในแง่เงินเหรียญ ถ้าเป็นเงินบาทก็จะลดลงไปอีก เพราะเงินบาทแข็งค่า คิดว่าเป้าที่เห็นตอนนี้น่าจะลบใกล้เคียงกับช่วงครึ่งแรกของปีคือประมาณ 9-10% แต่ก็ยังมีความผันผวนค่อนข้างสูงมาก จากปัจจัยเรื่องของราคาสินค้าตลาดโลกที่ผันแปรค่อนข้างสูงมากในช่วงที่ผ่านมา และก็เชื่อว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้าก็ยังผันผวนในอัตราที่สูงอยู่”นายรุ่งโรจน์ กล่าวตอบคำถามถึงการทบทวนเป้าหมายยอดขายในปี 62 ที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปีว่าจะเติบโต 5-10%
อนึ่งประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 7 พันล้านบาท ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 2.04 พันล้านบาท ,การขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1.15 พันล้านบาท และสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง (สเปรด) ราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลง โดยในไตรมาส 2/62 มียอดขาย 1.09 แสนล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับงวด 6 เดือนแรกปีนี้เอสซีจีมีกำไรสุทธิ 1.87 หมื่นล้านบาท ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดขาย 2.21 แสนล้านบาท ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ ทิศทางธุรกิจซีเมนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เชื่อว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเติบโต 3% และคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ทั้งปีการเติบโตจะอยู่ในระดับ 3-4% เป็นผลจากงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ออกประมูลไปแล้วก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ส่วนตลาดซีเมนต์สำหรับที่อยู่อาศัยคาดว่าจะยังคงต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปีจึงจะเห็นการขยายตัว ซึ่งทำให้มีผลต่อตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ยังอยู่ระดับทรงตัว ท่ามกลางตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ส่วนตลาดซีเมนต์ในอาเซียน ยังคงเห็นการเติบโตทั้งในกัมพูชา, เมียนมา และเวียดนาม แต่ในตลาดอินโดนีเซีย ชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ด้าน ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เอสซีจีก็จะรับรู้ผลการดำเนินงานของการเข้าไปซื้อหุ้น 55% ใน PT. Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในอินโดนีเซียตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป หลังจากการซื้อหุ้นแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานรวมของเอสซีจีแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสที่จะเข้าไปขยายฐาน และได้พันธมิตรที่ดีในอินโดนีเซีย เพราะธุรกิจของ Fajar เป็นธุรกิจที่ดีและมีขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย ขณะที่ในปีที่ผ่านมา Fajar มียอดขายราว 2.19 หมื่นล้านบาท และมีกำไรประมาณ 3.1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ถึงแม้ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกเอสซีจีจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่เอสซีจียังเดินหน้ามุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) และเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าธุรกิจให้เป็นไปตามแผน ภายใต้ 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์การบริหารจัดการการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการรุกตลาดใหม่ๆ สำหรับธุรกิจเคมีภัณฑ์ และซีเมนต์ ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมทั้งโรงงาน UPPC ในฟิลิปปินส์ และโรงงาน BATICO ในเวียดนาม รวมถึงการเข้าซื้อหุ้น Fajar
สำหรับกลยุทธ์การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยจะบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2/62 มีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร 4.26 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังไม่แน่นอน รวมทั้งทบทวนโครงการลงทุนด้วยการชะลอการลงทุนใหม่ในรูปแบบของการพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น (Greenfield) ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างผลตอบแทนกลับมา และจะเน้นการลงทุนโครงการที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้รวดเร็ว อย่างการเข้าซื้อกิจการ Fajar ที่สามารถรับรู้ผลการดำเนินงานได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ในส่วนโครงการลงทุนสำคัญก็ยังเดินหน้า อย่างโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ที่ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว 15-16% ก็จะเร่งให้แล้วเสร็จตามแผนในปี 66 ,การขยายกำลังการผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ในไทย จะแล้วเสร็จในปี 64 และการขยายโรงงานกระดาษในฟิลิปปินส์ ก็ยังคงเดินหน้าตามแผน ซึ่งการทบทวนโครงการลงทุนดังกล่าวทำให้ปรับงบลงทุนในปีนี้เป็น 7-7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมงบการเข้าซื้อกิจการ Fajar กว่า 2.1 หมื่นล้านบาทด้วย จากเดิมตั้งงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมงบการเข้าซื้อกิจการ
นอกจากนี้ เอสซีจีก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว 77 เมกะวัตต์ (MW) ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอก ช่วยประหยัดได้ 350 ล้านบาท/ปี เป็นต้น
ทั้งนี้ ในระยะสั้นปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้ายังมีน้ำหนักค่อนข้างมากต่อการดำเนินงานของเอสซีจี แต่ก็มีโอกาสทางการค้าสำหรับกลุ่มที่จะขยายตลาดไปยุโรปและสหรัฐมากขึ้น ขณะที่ตลาดในจีนชะลอตัวลง ก็จะหันไปขยายตลาดอาเซียนที่ยังเติบโต ส่วนต้นทุนวัตถุดิบที่ยังผันผวนตามราคาน้ำมัน ก็ต้องบริหารจัดการเพื่อให้มีสภาพคล่องมากที่สุด และค่าเงินบาทที่แข็งค่า หากรัฐบาลสามารถดูแลไม่ให้แข็งเกินไปก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมส่งออกไปต่อได้
อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะกระทบผลประกอบการของเอสซีจีใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเรื่องการค้า ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่าทุก 1 บาท/เหรียญสหรัฐ จะกระทบต่อกำไรของเอสซีจีราว 2 พันล้านบาท/ปี ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่า 1.7 บาท/เหรียญสหรัฐ ก็จะกระทบกำไรทั้งปีราว 3.4 พันล้านบาท/ปี
ส่วนที่สอง คือการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ที่ช่วงลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ราว 35 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ระดับ 31 บาท/เหรียญสหรัฐ แปลงเป็นค่าเงินบาทก็จะได้รับผลกระทบในส่วนนี้ด้วย โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เอสซีจีมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 5.3 พันล้านบาท
สำหรับการลดผลกระทบในขณะนี้คือการทำป้องกันความเสี่ยง เมื่อมีการขายและส่งมอบสินค้าแล้วก็จะแปลงกลับมาเป็นเงินบาทโดยทันที รวมถึงการบริหารจัดการป้องกันความเสี่ยงการขายด้วย ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไป