KKP หั่นลดเป้าสินเชื่อเหลือโต 5% หลังตลาดเช่าซื้อรถยนต์มือสองชะลอตัว
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคา …
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 62 เหลือโต 5% จากเดิมตั้งเป้าไว้โต 8% หลังจากสินเชื่อรวมของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกพลาดเป้าหมาย โดยเติบโตเพียง 2.1% เป็นผลมาจากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 2.7% และมีสัดส่วนที่ลดลงเหลือ 45% จากเดิมที่ 47% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อรถยนต์ชะลอตัว โดยเฉพาะรถยนต์มือสองที่ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อมากถึง 63% เมื่อเทียบกับรถยนต์ใหม่ที่ 37%
ขณะที่ธนาคารยังเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือสองเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น ทำให้กดดันต่อภาพรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรวมของธนาคาร โดยที่ธนาคารมองว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารในปีนี้จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ 0.1% จากปีก่อน
นอกจากนั้น สินเชื่อรายย่อยในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารยังหดตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีแรก 4.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นกลับมา และสงครามการค้า ซึ่งทำให้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมีความต้องการใช้สินเชื่อลดลงอย่างมาก
แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากกลุ่มสินเชื่อกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังมีการเติบโตอยู่ เพราะยังมีการลงทุนในโครงการต่างๆต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการชะลอไปบ้างเนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก
“ยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจของธนาคารในปีนี้เผชิญกับความท้าทายและความผันผวนสูง ทำให้ธนาคารต้องปรับเป้าหมายสินเชี่อลดลงมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน”นายอภินันท์ กล่าว
ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคารในครึ่งปีแรกแม้ยังไม่มีดีลใหม่ๆ แต่ไนช่วงครึ่งปีหลังธนาคารคาดว่าจะเห็นการเติบโตขึ้นของรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ เพราะจะมีดีลการกระจายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใหม่ (IPO) ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทยอยออกมามากขึ้น เช่น บมจ.ดูโฮม (DOHOME) และบมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ที่ได้ประกาศออกไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีดีลอื่นๆ ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น ดีลการควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) ซึ่งธนาคารได้มีส่วนในเรื่องของการเพิ่มทุน และดีลการปรับโครงสร้างธุรกิจของเซ็นทรัล กรุ๊ป ซึ่งหากมีความชัดเจนที่แน่นอนของทั้ง 2 ดีล เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะส่งผลให้หนุนต่อรายได้ของธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคารใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อนที่ 800 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 200 ล้านบาท
ส่วนการตั้งสำรองของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ทรงตัวหรือลดลงจากครึ่งปีแรกที่ธนาคารตั้งสำรองไปราว 1.09 พันล้านบาท ซึ่งธนาคารจะพยายามควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 4% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หลังจากที่ครึ่งปีแรก NPL ของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% จากหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองที่ธนาคารเร่งปล่อยไปเมื่อปลายปีก่อน ทำให้มีลูกค้าบางส่วนเป็นหนี้เสียเข้ามา กระทบให้ NPL และการตั้งสำรองในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น
อีกทั้งการที่หนี้เสียในกลุ่มของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังมีผลต่อจำนวนรถยึดที่เพิ่มขึ้นและทำให้มีผลขาดทุนรถยึดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลต่อ Credit Cost ของธนาคารที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.4% จากเดิมที่ 1.2% ส่งผลกดดันกำไรของธนาคลร ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารจะต้องควบคุม Credit Cost ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทำให่กำไรของธนาคารทรงตัวหรือใหล้เคียงกับปีก่อนที่ 6 พันล้านบาท
“จะทำให้ Net Profit เพิ่มขึ้นในปีนี้ถือว่าค่อนข้างยาก เพราะ Q2/62 ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายต่างๆของธนาคารก็เพิ่มขึ้น การขาดทุนลดยึดก็เพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่ารายได้จะมีการเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การที่เราเร่งปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองไปเมื่อปลายปีก่อนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กดดันเราในตอนนี้ เพราะก็มีลูกค้าที่ไม่ดีเข้ามาบ้าง แต่ตอนนี้เราก็ชะลอและระมัดระวังมากขึ้น เพื่อทำให้หนี้เสียไม่เพิ่มขึ้น และการขาดทุนรถยึดไม่กดดันผลการดำเนินงานมาก ซึ่งอย่างดีที่สุดในปีนี้กำไรก็คงจะทรงตัวกับปีก่อน”นายอภินันท์ กล่าว
ด้านนายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน KKP กล่าวถึงผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.62 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,699 ล้านบาท ลดลง 11.9% จากงวดเดียวกันของปี 61 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.ทุนภัทร และบริษัทย่อย จำนวน 327 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 5,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,146 ล้านบาท ลดลง 2.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 1,059 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากงวดเดียวกันของปี 61
ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกสินเชื่อโดยรวมของธนาคารมีการขยายตัว 2.1% จากสิ้นปี 61 โดยมีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการหดตัว ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัว 2.7% จากสิ้นปี 61 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/62 อยู่ที่ 4.2% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1% ณ สิ้นปี 61 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งเงินกองทุนทั้งสิ้นได้รวมกำไรถึงปี 61 ทั้งปีหลังหักเงินปันผลจ่าย อยู่ที่ 16.13% โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 12.37% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/62 จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 17.29% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.53%