CWT อวดศักยภาพบริษัทย่อย “SakunC” ลุยจับมือ “สวทช.” นำร่องโครงการ “รถโดยสารไฟฟ้า”
CWT อวดศักยภาพบริษัทย่อย “SakunC” ลุยจับมือ “สวทช.” นำร่องโครงการ “รถโดยสารไฟฟ้า”
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT เปิดเผยว่า กลุ่มโชคนำชัยได้มีการเข้ารับงานเป็นคู่สัญญาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการนำร่องโครงการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลง จากรถโดยสารประจำทางที่ใช้แล้ว และการร่วมมือครั้งนี้ยังมี “SakunC” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CWT เป็นผู้ร่วมออกแบบทางวิศวกรรมอีกด้วย
อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตในไทยให้มีความสามารถในการดัดแปลงจากรถโดยสารเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำกลับมาจดทะเบียนใหม่ได้อีกครั้ง โดยเป็นการนำกลับมาดัดแปลงแล้วใช้ใหม่ และการร่วมมือกันในครั้งนี้ยังให้ความสำคัญทั้งด้านการนำกลับมาใช้ใหม่ และได้พัฒนาความสามารถจากรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนประกอบที่น้อยกว่าและแตกต่างจากรถยนต์ธรรมดาอย่างมาก โดยในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดได้ถูกนำมาใช้จริงในประเทศไทยแล้ว
ขณะที่การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ในประเทศที่พัฒนาแล้วยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงกว่าและการปลดปล่อยสารมลพิษที่ต่ำกว่า รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไม่มีการปลดปล่อยสารมลพิษจากยานยนต์ระหว่างการขับเคลื่อน (Tank-to-Wheel Emissions) ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ในการเดินทางในเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง
ด้านนายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า การร่วมมือดังกล่าวทาง SakunC มีทีมงานวิจัยและพัฒนางานเชิงนวัตกรรมทั้งในส่วนของเรืออลูมิเนียม และรถโดยสารประจําทาง โดยมีบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป ที่มีประสบการณ์ในการผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนรถยนต์ทุกชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 20 ปี
ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบ ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนที่ใช้กับเรือ และรถมินิบัสอลูมิเนียม รวมถึงยังมีความพร้อมในด้านการซ่อมบำรุงและด้านบุคลากร เครื่องจักรขนาดใหญ่ ได้แก่ CNC Machines , Press Machine ขนาด 2,700 ตัน , Laser Cutting Machines เป็นต้น รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 เครื่อง ส่งผลให้ SakunC มีศักยภาพสูงในการผลิตและประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน และสามารถทดสอบเพื่อการแก้ไขปรับปรุง ให้รถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลงที่พัฒนาจากรถโดยสารประจำทางสามารถใช้งานได้ตามเงื่อนไขและตามมาตรฐานที่ภาคีเครือข่ายพัฒนาการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าไทยประกาศกำหนด