PPPM ผู้ถือหุ้นกู้ไฟเขียว! ยืดเวลาไถ่ถอนเงินต้นอีก 330 วัน แต่ไม่อนุมัติแก้ไขดอกเบี้ย

PPPM ผู้ถือหุ้นกู้ไฟเขียว! ยืดเวลาไถ่ถอนเงินต้นอีก 330 วัน แต่ไม่อนุมัติแก้ไขดอกเบี้ย


บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM เปิดเผยว่า วันนี้ (2 ก.ย.62) ผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติแผนขยายระยะเวลาการชำระไถ่ถอนเงินต้นของหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 มูลค่า 319.50 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อวันที่ 2 ส.ค.62 โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

โดยขยายระยะเวลาการชำระไถ่ถอนเงินต้นของหุ้นกู้นี้ออกไปถึงวันที่ 2 ก.ค.63 หรือขยายไป 330 วัน พร้อมจ่ายอัตราดอกเบี้ย 7.75% ต่อปี จากเดิม 7.25% ต่อปี แต่ไม่อนุมัติผ่อนผันยกเว้นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ส่งผลให้บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระงวดวันที่ 2 ส.ค.62 ถึง 2 ก.ย.62 ในอัตรา 9.75% ต่อปี

ทั้งนี้ PPPM จะใช้แหล่งเงินทุนจากการขายทรัพย์สินบางส่วนออกไป โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่ 23 ยูนิต ซึ่งมี 15 ยูนิตที่จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาก็มีผู้ติดต่อขอซื้อพร้อมวางเงินมัดจำเข้ามาแล้วบางส่วน และยังมีผู้ที่สนใจได้ติดต่อขอซื้อเข้ามาอีกจำนวนหลายราย รวมถึงบริษัทยังมีทรัพย์สินอีกหลายรายการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้เมื่อครบกำหนด

ส่วนงวดการชำระหนี้หุ้นกู้ในครั้งที่ 3/2561 ซึ่งจะครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้ในวันที่ 3 ก.ย.62 วงเงิน 134 ล้านบาท บริษัทยอมรับว่าจะมีความล่าช้า และได้มีการแจ้งขอเลื่อนไปแล้ว โดยยืนยันว่าจะสามารถจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ได้ทันภายในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยแหล่งเงินทุนนำมาจากการขายหลักทรัพย์ในพอร์ตลงทุนออกทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่งวดการชำระหุ้นกู้ในครั้งถัดไป ผู้ออกหุ้นกู้ยืนยันว่าจะสามารถชำระหนี้หุ้นกู้ตรงตามกำหนด

นายวรุณ อัตถากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PPPM กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้นกู้ว่าจะสามารถจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ได้ครบทุกราย จากการขายทรัพย์สิน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าฯ และการขายหลักทรัพย์ที่ได้ลงทุน อีกทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ ก็ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยผิดนัด 2% ที่ขอผ่อนผันไป แต่ไม่ได้รับการอนุมัติในวันนี้ บริษัทก็ยินยอมที่จะดำเนินการตามมติผู้ถือหุ้นกู้ และจะไม่มีการนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้อีกแล้ว โดยหลังจากนี้บริษัทจะดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงินให้เป็นระเบียบ และบริหารจัดสรรเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ต่อไป

Back to top button