ดักเก็บ SCB โบรกฯชูท็อปพีคกลุ่มชี้ผลงาน H2 พุ่งรับสินเชื่อโต-ขาย SCBLIFE-ลุ้นปันผลพิเศษ
ดักเก็บ SCB โบรกฯชูท็อปพีคกลุ่มชี้ผลงาน H2/62 พุ่งรับสินเชื่อโต-ขาย SCBLIFE-ลุ้นปันผลพิเศษ
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ พบว่ามีนักวิเคราะห์หลายแห่งกำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดยจัดให้เป็น Top Pick เล็งผลดำเนินงานครึ่งหลังปีนี้เติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก จากสินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่องในทุกกลุ่ม และยังได้รับผลดีจากการขาย บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (SCBIFE) ให้กับ FWD Group Financial Services Pte.Ltd. (FWD) ซึ่งจะได้รับเงินในช่วงครึ่งหลังปีนี้
รวมถึงค่าธรรมเนียมการเข้าถึงช่องทางการให้บริการของธนาคาร (Access fee) หลังจากการขายกิจการ SCBLIFE จึงเชื่อว่าธนาคารอาจจ่ายเงินปันผลพิเศษ
นอกจากนั้น คาดว่าสินเชื่อของ SCB จะเติบโต 4-7% ในปีนี้ ขณะที่ NPL มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับกลุ่มแบงก์ โดยจะเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ในไตรมาส 3/62 แต่คงจะไม่มากนัก โดย SCB สิ้นไตรมาส 2/62 มีตัวเลข NPL อยู่ที่ 2.7% ในปีนี้ก็คาดว่า SCB จะมี NPL อยู่ประมาณ 2.8-2.85% ซึ่งยังเป็นระดับที่ยอมรับได้
ด้านนายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้เหตุผลที่แนะนำ “ซื้อ” หุ้น SCB พร้อมเลือกให้เป็นหุ้นในกลุ่ม Top Pick เนื่องจากราคาหุ้น SCB ยังมี upside อยู่มากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ 153 บาท/หุ้น และยังเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากสินเชื่อขยายตัว รวมถึงยังสามารถเก็งกำไรจากการขาย SCBLIFE ได้ด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของ SCB ในครึ่งหลังปีนี้จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก จากสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งสินเชื่อปีนี้คาดว่าจะเติบโต 7% และยังได้รับผลดีจากการขาย SCBLIFE ด้วย ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีที่แล้ว ที่มีกำไรสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท
สำหรับในส่วนของเงินปันผลคาดว่าปีนี้ SCB จะจ่าย 5.50 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จ่ายปันผล 5.00 บาท ซึ่งคิดอัตราผลตอบแทนจากปันผล (Dividend yield) ประมาณ 4.5%
ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มแบงก์ ซึ่งเชื่อว่าไตรมาส 3/62 ก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นแต่คงจะไม่มากนัก โดย SCB สิ้นไตรมาส 2/62 มีตัวเลข NPL อยู่ที่ 2.7% ในปีนี้ก็คาดว่า SCB จะมี NPL อยู่ประมาณ 2.8-2.85% ซึ่งก็ยังเป็นที่ยอมรับได้
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า SCB ได้ทำสัญญาขายหุ้น 99.2% ใน SCBLIFE ให้กับ FWD Group Financial Services ธนาคารจะได้รับเงินล่วงหน้า 9.27 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งรวมถึงค่า Access fee สำหรับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านเครือข่ายของธนาคาร จึงคาดว่าจะได้รับกำไรหลังหักภาษีบันทึกครั้งเดียวที่ 1.07 หมื่นล้านบาท โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อดีลนี้ เนื่องจากกำไรจากการลงทุนเพียงครั้งเดียวจะช่วยหนุนงบดุล
ด้าน SCB มีพอร์ตลูกค้าสินเชื่อ SME ที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนเพียง 16% ของสินเชื่อรวม โมเมนตัมของผลประกอบการน่าจะดีขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายการลงทุนสำคัญได้สิ้นสุดลงหลังจากการขายกิจการ SCBLIFE จึงเชื่อว่าธนาคารอาจจ่ายเงินปันผลพิเศษ หรืออาจหาโอกาสในการควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE)
จึงคาดว่าผลประกอบการจะโต 1% ในปีนี้ และ 7% ในปี 63 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่สูงขึ้นและการเติบโตของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ชะลอตัว คาดว่าจะชดเชยธุรกิจขายประกันชีวิตผ่านธนาคารและธุรกิจกองทุนรวมที่อ่อนแอ
SCB มีเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 5-7% ในปีนี้เทียบกับที่คาด 4% ธนาคารวางแผนจะเพิ่มสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกันแทนสินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 38% ของสินเชื่อรวม) และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ให้ผลตอบแทนต่ำ จึงเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในครึ่งหลังของปี 62 และ 63 ได้ แต่ยังคงระมัดระวังในแง่คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ คงสัดส่วนไว้ที่ 40% ของทั้งหมด เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและรายได้ภาคเกษตรที่อ่อนแอ
ส่วน บล.เอเอสแอล ระบุว่า SCB มีการเติบโตที่โดดเด่นเหนือกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ จึงเลือกเป็น Top pick ของกลุ่มธนาคาร โดยประเมินกำไรสุทธิปีนี้ 4.34 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 8.3% จากปีก่อน จากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นหลังขาย SCBLIFE ซึ่งสามารถเอาไปต่อยอดหาผลตอบแทนอื่นได้ ประกอบกับ การเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่องในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่สร้างผลตอบแทนสูงขึ้นส่งผลต่อ NIM ที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง รวมถึงคาดว่าจะเริ่มบันทึก Access fee ได้ในปีนี้ราว 1.7 -2.0 พันล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ สินเชื่อปีนี้คาดเติบโต 5.3% จากการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเข้ามา คาดว่า Loan yield จะปรับตัวขึ้นอีก 10 bps เป็น 5.4% และ NIM ปี 63 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% ด้านค่าใช้จ่ายงบไอทีเริ่มลดลงหลังผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 1/62 ไปแล้ว จึงอาจเห็น Cost to income ของ SCB กลับมาแตะที่ระดับ 45% ได้ในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงการตั้ง provision ที่มี credit cost ต่ำกว่าเป้าหมายเป็น upside ต่อประมาณการสะท้อนผ่านคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งคาดว่า NPL จะทรงตัวที่ 2.8%