ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร GPSC ที่ “AA-” แนวโน้ม “Stable”
ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร GPSC ที่ "AA-" แนวโน้ม "Stable"
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม ปตท. ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังของบริษัท อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสำคัญของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทลูกที่รับผิดชอบด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดของกลุ่ม ปตท. นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงระดับเงินกู้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อกิจการของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ หลังจากการซื้อกิจการของบริษัทโกลว์ พลังงาน แล้ว บริษัทก็มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมเท่ากับ 5,026 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทย โดยเป็นรองเพียง บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ที่มีกำลังการผลิต 6,900 เมกะวัตต์
บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังก๊าซซึ่งผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดราว 3,400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 68% ของกำลังการผลิตรวม ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 814 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 16% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและหน่วยผลิตไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้กากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ) คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 812 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าของบริษัทมีการกระจายตัว
บริษัทเป็นเจ้าของในโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวหลากหลาย ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 29 แห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer — IPP) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 6 แห่งมีกำลังการผลิตรวม 2,439 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 49% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีก 11 แห่งที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer — SPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมเท่ากับ 2,192 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทอีกด้วย ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 8% เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 11 แห่งและหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU อีก 1 แห่ง
โรงไฟฟ้าหลักของบริษัทประมาณ 97% ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นตั้งอยู่ในหลายประเทศทั้งประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศญี่ปุ่น
มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งต่อไปได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกับ กฟผ. รวมถึงลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในกลุ่ม ปตท. บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 66% ของกำลังการผลิตทั้งหมดให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา IPP และ SPP โดยสัญญาที่มีกับ กฟผ. จะมีอายุสัญญาประมาณ 21-25 ปี สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP นั้น บริษัทจะได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment — AP) เต็มจำนวนตราบเท่าที่บริษัทสามารถทำให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อไฟฟ้าถึงแม้ว่า กฟผ. จะไม่ได้สั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเลยก็ตาม ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP นั้นมีความแตกต่างเล็กน้อยไปจากโรงไฟฟ้า IPP โดย กฟผ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท IPP และ SPP นั้นยังมีกลไกส่งผ่านภาระค่าก๊าซด้วย บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา SPP แบบ Non-firm อีกด้วยเพื่อช่วยบริหารจัดการเรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่มีข้อบังคับให้บริษัทต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า
บริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าอุตสาหกรรมหลายรายในเขตพื้นที่มาบตาพุดอีกด้วย โดยประมาณ 90% ของลูกค้าดังกล่าวเป็นบริษัทภายใต้กลุ่ม ปตท. สัญญาดังกล่าวมีอายุ 5-15 ปีและมีการระบุปริมาณรับซื้อขั้นต่ำโดยจะมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ด้วย
แผนรวมการดำเนินงานในเขตมาบตาพุดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
กำลังการผลิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,026 เมกะวัตต์ในปี 2562 จาก 1,977 เมกะวัตต์ในปี 2561 ซึ่งเป็นผลจากการซื้อกิจการ ของบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) โดยบริษัทจะกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในแถบภาคตะวันออกของประเทศ นอกจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทยังจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของ บริษัทโกลว์ พลังงาน ที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่หลากหลายอีกด้วย จากการที่โรงไฟฟ้าของบริษัทและของ บริษัทโกลว์ พลังงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน บริษัทจึงมีแผนจะควบรวมการดำเนินงานและการซ่อมบำรุงของทุกโรงไฟฟ้าเข้าด้วยกันรวมถึงการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งไอน้ำในเขตพื้นที่มาบตาพุดเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการซื้อกิจการของบริษัทโกลว์ พลังงาน
บริษัทต้องใช้เงินราว 1.35 แสนล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทโกลว์ พลังงาน โดยในช่วงแรกบริษัทได้ใช้วงเงินกู้ยืมระยะสั้นประเภท Bridging Loan จำนวน 9.95 หมื่นล้านบาทและเงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้องกันอีก 3.5 หมื่นล้านบาทเพื่อทำธุรกรรมดังกล่าว
ในส่วนของแผนการเงินระยะยาวนั้น บริษัทจะคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) โดยการใช้เงินจากการเพิ่มทุนประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท (55% ของเงินที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม) และจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 5.05 หมื่นล้านบาทจะมาจากการออกหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว เมื่อประเมินจากสมมติฐานดังกล่าวแล้ว บริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งบริษัทวางแผนไว้ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับต่ำกว่า 4.0 เท่าจาก ระดับสูง 5.5 เท่า ณ สิ้นปี 2562
การสนับสนุนอย่างดีจากกลุ่ม ปตท.
ทริสเรทติ้งคาดว่ากลุ่ม ปตท. จะยังคงให้การสนับสนุนแก่บริษัทต่อไปในฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่รับผิดชอบด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บมจ. ปตท. (PTT) เพิ่งประกาศว่า ปตท. จะดำเนินการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือทั้งหมดของบริษัทเพื่อสนับสนุนการซื้อกิจการของบริษัทโกลว์ พลังงาน ประกาศดังกล่าวจึงทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะได้รับเงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทครบทั้งจำนวนและจะช่วยลดระดับเงินกู้ได้ตามแผนการที่วางไว้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ประมาณการรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 6.3-7.5 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2562-2565
กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณปีละ 1.6-2.1 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2562-2565 หรือคิดเป็นอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 26%-28%
เงินเพิ่มทุนจะอยู่ที่จำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทในปี 2562
ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 0.7-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2565 ซึ่งรวมเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทดแทน SPP และเงินลงทุนหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีอยู่จะดำเนินงานไปด้วยความเรียบร้อยและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ตามประมาณการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถลดอัตราส่วนการก่อหนี้ในโครงสร้างเงินทุนได้ตามแผนที่วางไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากการรวมธุรกิจกับ บริษัทโกลว์ พลังงาน ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยตามที่วางแผนไว้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมีสาระสำคัญจากที่คาดการณ์ไว้หรือโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการก่อหนี้เพิ่มจำนวนมากเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่