ทริสฯ จัดเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ TU ที่ “A+” หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ “A-” แนวโน้ม “คงที่”
ทริสฯ จัดเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ 6 พันลบ. TU ที่ "A+" หุ้นกู้ด้อยสิทธิ 6 พันลบ. ที่ "A-" แนวโน้ม"คงที่"
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ที่ระดับ “A+” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทมีความประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้ไปจ่ายชำระคืนหนี้เดิมและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
พร้อมกันนี้ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วย โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 2 ระดับ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ได้
จากลักษณะของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าว ซึ่งมีความด้อยสิทธิ ความสามารถในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยตามดุลยพินิจของบริษัท การห้ามไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วง 5 ปีแรก และมีอายุตราสารที่ยาวนานทำให้ ทริสเรทติ้งกำหนดให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทมีระดับความเป็นทุนระดับปานกลาง (Intermediate Equity Content) ดังนั้น ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งพิจารณา 50% ของเงินต้นคงค้างของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนเป็นทุน และอีก 50% เป็นเงินกู้และระดับความเป็นทุนของตราสารหนี้จะถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับความเป็นทุนน้อย (0%, Minimal Equity Content) ในวันครบกำหนด 5 ปีนับจากวันออกหุ้นกู้ เนื่องจากอายุคงเหลือจริง (Remaining Effective Maturity) ณ วันดังกล่าวน้อยกว่า 20 ปี ทั้งนี้ ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งนั้นอายุคงเหลือจริงของตราสารจะลดลงเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 100 Basis Points (bps) ซึ่งในกรณีของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทนั้น กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด 25 ปีนับจากวันที่ออกหุ้นกู้
นอกเหนือจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิฯ ของหุ้นกู้ เช่น การเปลี่ยนแปลงการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล การเปลี่ยนแปลงหลักการทางบัญชี หรือการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันจัดอันดับเครดิตในเรื่องของความเป็นทุนของหุ้นกู้แล้ว บริษัทมีความประสงค์ (แต่ไม่ผูกพันให้ต้องดำเนินการ) ที่จะชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนหรือซื้อคืนด้วยตราสารทุนที่เท่าเทียมกันหรือดีกว่า
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งอาจจะลดระดับความเป็นทุนของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่จะออกใหม่และที่คงค้างสู่ระดับความเป็นทุนน้อยจากระดับความเป็นทุนปานกลางหากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้แตกต่างจากข้อผูกพันเรื่องการออกหลักทรัพย์เพื่อทดแทนหุ้นกู้ในข้อกำหนดสิทธิฯ ดังกล่าว
โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกจำกัดโดยความเสี่ยงในหลายด้านของอุตสาหกรรมอันได้แก่ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ในปี 2561 ตลอดจนช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ผลประกอบการของบริษัทอ่อนลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายพิเศษจากการชดเชยในคดีความในประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนผลการดำเนินงานของ Red Lobster ที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอยู่ที่ระดับ 9.8 พันล้านบาทในปี 2561 และ 4.1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับระดับประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2557-2560 ทั้งนี้ โครงสร้างเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่จัดการได้ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2562 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 58.9% และเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 12.6%
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การควบคุมต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต ภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงตามผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นและค่าใช้จ่ายเงินลงทุนที่ลดลง นอกจากนี้ บริษัทมีแผนปรับปรุงสถานะการเงินโดยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน และการระดมทุนด้วยการนำบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อรวมการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนในครั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะค่อย ๆ ลดลงจาก 6.3 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2562 มาอยู่ในระดับประมาณ 5 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต”Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและการมีประสิทธิภาพในการผลิต
สำหรับปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมากหรือมีการลงทุนขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดส่วนเกินเพื่อรองรับการชำระหนี้อ่อนแอลงกว่าที่คาด