CKP ติดปีกบินไปได้ไกล “ไซยะบุรี” เพิ่มผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ
CKP ติดปีกบินไปได้ไกล "ไซยะบุรี" เพิ่มผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ
29 ตุลาคม 2562 ถือเป็นฤกษ์ดี ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งพัฒนาและบริหารโดยบริษัทสัญชาติไทย แห่งแรก คือบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่สร้างความแข็งแกร่งอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อผลประกอบการของ CKP ที่จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีใช้เงินลงทุนสูงถึง 135,000 ล้านบาท ในการศึกษาออกแบบ วางแผนด้านสิ่งแวดล้อม และก่อสร้างนานถึง 12 ปี โดยมีโครงสร้างการลงทุนสำหรับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ที่ 3 ต่อ 1 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,285 เมกะวัตต์ (MW) สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดประมาณ 7,600 ล้านหน่วยต่อปี มีสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 95% และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 5% ในราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2 บาท คาดว่าจะสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณจำนวน 13,000 – 14,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงประมาณการกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ 85-90%
จุดแข็งของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีคือ มีความมั่นคงของรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นเวลา 29 ปี ทำให้มีกระแสเงินสดที่แข็งแรง รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง สำหรับกรณีที่อาจจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์น้ำมากหรือน้ำแล้งในบางปี โดยการใช้ค่าเฉลี่ยของปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตได้ตลอดอายุสัญญาซื้อขายในการพิจารณาการลงทุน ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการดูปีใดปีหนึ่ง นอกจากนี้โรงไฟฟ้าพลังน้ำยังมีจุดเด่นที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 5-6 นาที ซึ่งใช้เวลาน้อยมากเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่น รวมถึงยังมีความเสถียรค่อนข้างสูง หากมีปัญหาของระบบไฟฟ้าในประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำจะถูกเลือกใช้เป็นแหล่งพลังงานต้น ๆ เพื่อรักษาความเสถียรของระบบไฟฟ้าของประเทศ
“โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไม่ได้มีความกังวลเรื่องภัยแล้ง เนื่องจากมีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลสถิติประมาณน้ำในแม่น้ำโขง ตลอด 46 ปีที่ผ่านมาจะมีโอกาสที่น้ำมากและน้ำน้อยเป็นวัฏจักร โดยค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำตามสถิติจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และในแต่ละปีจะยังมีความผันผวนในแต่ละฤดู โดยไตรมาส 1-2 จะมีปริมาณน้ำน้อยอยู่ที่ประมาณ 40-50% ของค่าเฉลี่ย ไตรมาส 3 จะมีปริมาณน้ำมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า ส่วนในไตรมาส 4 จะมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย จากปริมาณน้ำดังกล่าว การคาดการณ์สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงจะอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 20 : 20 : 32 : 28 ในไตรมาสที่ 1 ถึง 4 ตามลำดับ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีรายได้ที่สม่ำเสมอตามการคาดการณ์”
นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้ำ ถือเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันที่ผันผวนในตลาดโลก รวมถึงยังมีต้นทุนที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งพลังงานอื่น ทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีราคาต่อหน่วยที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด
สำหรับรายได้ของ CKP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โดยถือหุ้นที่ 37.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 6,359 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มเป็นกว่า 9,000 ล้านบาทในปี 2561 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 รายได้เติบโตกว่า 24% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2561 เป็น 4,730 ล้านบาท จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกำลังการผลิตและกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย โอกาสทางธุรกิจของ CKP ยังมีอีกมาก ทั้งจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan: PDP) และโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้การเปิดดำเนินการเต็มปีของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในปี 2563 จะทำให้ผลประกอบการของ CKP ดีขึ้นจากส่วนแบ่งกำไรที่จะได้รับจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี โดยกำไรสุทธิสำหรับปี 2561 อยู่ที่ 599 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ที่ 7%
CKP มีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ โคเจนเนอเรชั่น และพลังแสงอาทิตย์รวม 2,167 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการที่พิจารณาเพื่อลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดย CKP ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และเมียนมา โดยให้ความสนใจโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว เป็นลำดับแรก นอกจากนี้โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และโคเจนเนอเรชั่นก็ยังอยู่ในความสนใจ โดยวางนโยบายผลตอบแทนจากการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10% CKP จึงเป็นหุ้นเติบโตที่นักลงทุนควรมีไว้ติดพอร์ตการลงทุนในระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน