KTB รับสินเชื่อ SME ปีนี้ต่ำเป้ารับศก.ชะลอตัว ปีหน้าเร่งอัดฉีด-คุม NPL ต่ำกว่า 2.1%

KTB รับสินเชื่อ SME ปีนี้ต่ำเป้ารับศก.ชะลอตัว ปีหน้าเร่งอัดฉีด-คุม NPL ต่ำกว่า 2.1%


นายวีระพงศ์ ศุภเศรษฐ์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีของ KTB ในปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 2.8% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโตราว 4% เนื่องจากรับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ที่มีปัจจัยมาจากสงครามการค้า นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยลบในประเทศทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่า การท่องเที่ยวชะลอตัว และการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อชะลอตัวตาม

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้การปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีการไช้สินเชื่อใหม่ค่อนข้างมากจะอยู่ไนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีวงเงินสินเชื่อ 20-100 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 2% ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหญ่ยังคงทรงตัว ขณะที่ผู้ประกอบเอสเอ็มอีรายเล็กหดตัวลง

ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีในไตรมาส 4/62 คาดว่าจะขยายตัวได้เล็กน้อย มาจากปัจจัยหนุนที่ธนาคารได้ออกแคมเปญร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง

โดยได้จัดแคมเปญ “กรุงไทย SME เคียงข้างธุรกิจคุณ” ที่ประกอบด้วยสินเชื่อเอสเอ็มอี 10 ประเภท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 4% ต่อปี และสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ 1 ประเภท วงเงินปล่อยกู้รวม 5 หมื่นล้านบาทภายในสิ้นปี 63 พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมประกันสินเชื่อกับ บสย. 4 ปีแรก โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63 ซึ่งในสิ้นปีนี้ธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อจากแคมเปญดังกล่าวได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีในปัจจุบันอยู่ที่ 2.1% ต่ำกว่าระบบที่อยู่ในระดับ 4-6% และธนาคารจะรักษา NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2.1% ไปถึงสิ้นปี 62 แม้ว่าจะมีความท้าทายค่อนข้างมากในเรื่องการควบคุมคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งยังเห็นแนวโน้มของลูกค้าที่เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้รวมอยู่ไม่ถึง 1 พันราย หรือคิดเป็นไม่ถึง 10% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่กว่า 3 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามหากลูกค้าเริ่มเห็นปัญหาเกิดขึ้น ธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าก่อน เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ต่อ

สำหรับเป้าหมายของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 63 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโต 3% และจะยังควบคุม NPL ไม่ให้เกิน 2.1% แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออยู่บ้าง อย่างเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่า รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจเกษตรบางประเภท เช่น ธุรกิจปาล์ม ที่ยังได้รับผลกระทบจากราคาที่มีแนวโน้มลดลง เป็นต้น

Back to top button