SNC รับรายได้ปีนี้พลาดเป้าเซ่นปัจจัยลบรอบด้าน ย้ำหัวหมุดปี 63 ผลงานฟื้นตัวแกร่ง
SNC รับรายได้ปีนี้พลาดเป้าเซ่นปัจจัยลบรอบด้าน ย้ำหัวหมุดปี 63 ผลงานฟื้นตัวแกร่ง
นายสมชาย งามกิจเจริญลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC ยอมรับว่ารายได้ปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 7,590 ล้านบาท แต่ดีกว่าปีก่อนที่ 6,635.07 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยทั้งในเรื่องการแข่งขันด้านราคา ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และยอดผลิตที่ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น และเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/62 จะเริ่มฟื้นตัว เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/62 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 39 ล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงผลิตของปี 63 และจะเริ่มเห็นผลบวกชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 63
ส่วนแผนการขายโรงงานที่แหลมฉบัง มูลค่า 500 ล้านบาท ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และได้ราคาที่น่าพอใจ โดยบริษัทได้นำเงินจากการขายโรงงานบางส่วน และเงินจากผลการดำเนินงานไปชำระเงินกู้ประมาณ 400 ล้านบาท จากเมื่อช่วงต้นปี 62 มีเงินกู้ทั้งหมด 500 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดภาษีดอกเบี้ยได้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้อัตราหนี้สินต่อกำไรสุทธิ (D/E) ของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 0.50 เท่า จากในช่วงต้นปี 62 มี D/E อยู่ที่ 0.7-0.8 เท่า ส่วนเงินที่เหลือบริษัทจะนำไปใช้ลงทุนเครื่องจักรระบบออโตเมชั่นในสายการผลิตมากขึ้น
รวมถึงใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจในกลุ่ม OEM/ODM เช่น ตู้เก็บเครื่องมือ (Tools storage) ที่เริ่มส่งออกเมื่อช่วงไตรมาส 3/62 ที่ผ่านมา และใช้เป็นฐานเงินเพื่อลงทุนในอนาคต
นายสมชาย กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ยังซบเซาต่อเนื่อง และมีหลายโรงงานที่เริ่มปิดตัวไป โดยในปี 62 ได้มีการปรับลดเป้าการผลิตเหลือ 2 ล้านคัน จากเดิมคาดว่าจะมีการผลิตใกล้เคียงกับปี 61 ที่ 2.20 ล้านคัน โดยในช่วง 9 เดือนแรกมียอดขายแล้ว 1.57 ล้านคัน และในไตรมาส 4/62 มองว่ายังคงซบเซาต่อ
ส่วนธุรกิจประกอบเครื่องปรับอากาศคาดว่าจะอยู่ที่ 650,000 ยูนิต ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบปี 61 ที่มีการประกอบเครื่องปรับอากาศ 250,000 ยูนิต ส่วนการผลิตปั๊มเครื่องทำน้ำร้อนที่ร่วมกับพันธมิตรในประเทศฝรั่งเศส คาดว่าจะมีการเติบโต 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า
ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริษัทในปี 62 ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศจะมีการผลิตอยู่ที่ 21.90 ล้านเครื่อง ปรับตัวเพิ่ม 7-9% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3-4% เมื่อเทียบกับปี 61 ที่มีการผลิต 20.30 ล้านเครื่อง ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกมีการผลิตไปแล้ว 17.86 ล้านเครื่อง