CPF ออกแบบบรรจุภัณฑ์รียูส-ย่อยสลายได้ ตั้งเป้าปี 68 โล๊ะใช้พลาสติกในไทย

CPF ออกแบบบรรจุภัณฑ์รียูส-ย่อยสลายได้ ตั้งเป้าปี 68 โล๊ะใช้พลาสติกในไทย


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มุ่งหน้าพัฒนาการออกแบบและการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนพร้อมตั้งเป้า บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) ใช้ใหม่ (Recyclable) ผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) และจะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นภายในปี 68 สำหรับกิจการในประเทศไทย และปี 73 สำหรับกิจการในต่างประเทศ

ทั้งนี้ นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทได้ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น ลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ และการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค (Food Waste) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ยกตัวอย่างเช่น การปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ถุงไก่สด ให้เหลือพลาสติกเพียงชั้นเดียวแทนการใช้พลาสติกหลายชั้นทำให้บรรจุภัณฑ์แบบใหม่ใช้พลาสติกน้อยลงถึง 43% โดยไม่กระทบต่อการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด

ขณะที่ ซีพีเอฟยังได้พัฒนาถาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากวัสดุธรรมชาติที่หมุนเวียนได้ (Renewable Resources) ที่เรียกว่า Polylactic Acid (PLA) โดยนำมาใช้กับสินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็น เป็นรายแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี2558 และล่าสุดบริษัทTops Foods ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซีพีเอฟในเบลเยี่ยม ได้วัสดุที่ทำจากเยื่อไม้สนย่อยสลายได้มาใช้กับ บรรจุภัณฑ์ของวีแกนลาซานญ่า แบรนด์ PURE

นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามจัดหาบรรจุภัณฑ์ ที่มีการนำวัสดุรีไซเคิล (Recycled Material) มาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง(Secondary Packaging) หรือใช้สำหรับการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งมีสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลอยู่ที่ร้อยละ 70-100และในธุรกิจอื่นๆของบริษัทซีพีเอฟ เช่น ร้าน Star Coffee ก็ได้หันมาใช้วัสดุที่ยั่งยืนทดแทนการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยาก เช่น แก้วและหลอดที่ทำจากไบโอพลาสติกผลิตจากพืช ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 100%

 

 

Back to top button