TU บวกต่อ 2% ผบห.ยัน “ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี” การเงินแกร่ง-มั่นใจระงับข้อพิพาททางแพ่งสำเร็จ!

TU บวกต่อ 2% ผบห.ยัน "ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี" การเงินแกร่ง-มั่นใจระงับข้อพิพาททางแพ่งสำเร็จ!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ล่าสุด ณ เวลา 12.09 น. อยู่ที่ระดับ 14 บาท ปรับตัวขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.45% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 176.45 ล้านบาท ขณะที่วานนี้ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 13.80 บาท หรือปรับตัวขึ้น 6.98%

ทั้งนี้ภายหลังจาก บริษัท บัมเบิล บี ฟู้ดส์ ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของสหรัฐประกาศจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ทางบริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล (Chicken of the Sea International) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และเป็นแบรนด์ชั้นนำทางด้านอาหารทะเลแปรรูปในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมายืนยันความมั่นคงทางการเงินของบริษัทฯ

ขณะที่ ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บริษัทไม่ถูกดำเนินคดีและไม่มีภาระค่าปรับใด ๆ อีกทั้งบริษัทได้เจรจาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทในทางแพ่ง โดยสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นธรรมและแสดงออกถึงความรับผิดชอบกับโจทก์สำเร็จไปกว่า 90% และทางบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงกับโจทก์ที่เหลือเพื่อระงับข้อพิพาทได้

ทั้งนี้บริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทดูแลลูกค้าและทำงานร่วมกับบริษัทคู่ค้าเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง บริษัทยังลงทุนพัฒนานวัตกรรมนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดในสหรัฐอเมริกา เช่น อินฟิวชั่นส์ และ ไวลด์ แคช ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์หลักต่างๆ ทั้งปลาทูน่า ปลาแซลมอน และผลิตภัณฑ์หลักอื่นๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์อินฟิวชั่น ปลาทูน่าในน้ำมันมะกอกผสมโหระพา

โดย TU ยังตอกย้ำถึงความสามารถในการเติบโตในตลาดอเมริกา ดังเห็นได้จากผลประกอบการของกลุ่ม TU ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งปริมาณการขายเติบโตขึ้น 3.8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอเมริกาที่โตขึ้นอย่างมีนัย จากทั้งธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปและอาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็ง ในส่วนภาพของรวมกลุ่มบริษัท อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 15.9% ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 6.9% ทั้งนี้ TU ยังคงให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เล็งผลถึงการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล และ TU ยังได้ทุ่มเทเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก มีการฝึกอบรมในเรื่องการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเข้มงวด ตลอดถึงการปรับหลักจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการดำเนินงานตามกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange ซึ่งได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม

อนึ่งก่อนหน้านี้นายยอร์ก ไอร์เล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินกลุ่มบริษัท ได้ออกมาเปิดเผย ในระหว่างไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ว่า บริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะซี ได้ตกลงระงับข้อพิพาทกับผู้ฟ้องคดีส่วนใหญ่ในคดีการป้องกันการผูกขาดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเงินจำนวน 1,402 ล้านบาทหลังจากหักภาษีแล้ว โดยหากไม่รวมค่าใช้จ่ายจากรายการพิเศษในกรณีดังกล่าว บริษัทได้บันทึกกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,513 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่าเปิดเผยสถานะล่าสุดของคดีดังกล่าว เนื่องจาก บริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะซี ได้เตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบทางการเงินใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ “ถือ”หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) โดยมีมุมมองเป็นกลางจากข่าวการล้มละลายของ Bumble Bee ซึ่งสะท้อนการแข่งขันสูงในธุรกิจทูน่ากระป๋อง รวมถึงความกังวลด้านคดีความต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการประสบ  โดยคาดว่า TU จะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการที่คู่แข่งอย่าง Bumble Bee เข้าสู่การล้มละลาย เนื่องจากคาดว่า Bumble Bee จะไม่ได้หยุดดำเนินการ เพราะในขณะนี้บริษัท FCF Fishery Co.,Ltd. จากไต้หวันได้แสดงตัวที่จะเข้ามาซื้อกิจการ และการดำเนินงานของ Bumble Bee ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งทำให้การแข่งขันในธุรกิจทูน่ากระป๋องยังสูงต่อไป

ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง Starkist และ Bumble Bee โดนปรับจากคดี price-fixing ยังคงสร้างความกังวลมาถึง TU แม้ว่า TU จะแจ้งว่าบริษัทถูกกันไว้เป็นพยานภายใต้เงื่อนไข Conditional Leniency ทั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปผลกระทบจากคดีความทั้งหมดในขณะนี้

ทั้งนี้ ได้ปรับราคาเป้าหมายลงเป็น 12.50 บาท อิง 2562E PER ที่ 16x (-0.5SD below 5-yr average PER) ปรับลดลงจากเดิมที่ 15.20 บาท เนื่องจากปรับเป้า PER ลดลงจากเดิมซึ่งอิงที่ค่า PER เฉลี่ย 19.5x เพราะธุรกิจทูน่ามีการแข่งขันที่สูงและการบริโภคต่อหัวลดลงประมาณ 40% ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีสินค้าอื่น ๆ มาทดแทน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงคือการตั้งสำรองค่าชดเชยคดีความที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นได้

โดยยังคงประเมินกำไรสุทธิปี 62 อยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท (+14% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) โดยบริษัทผ่านพ้นช่วงไตรมาส 3/62 ซึ่งเป็น High season ที่ผู้บริโภคในยุโรปนิยมทานอาหารนอกบ้าน ขณะที่ ไตรมาส 4/62 จะอ่อนลงตามฤดูกาล ราคาทูน่าลงไปต่ำมากที่ 900 เหรียญสหรัฐต่อตันในเดือน ต.ค.อาจจะทำให้ลูกค้าต่อรองราคาขายมากขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลง 15% ใน 1 เดือนที่ผ่านมาจากความกังวลเรื่องข้อพิพาทต่างๆ  TU ยังอยู่ภายใต้ความกังวลที่อาจจะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

 

Back to top button