“ก.อุตสาหกรรม” แจงยิบยอดเปิดโรงงานใหม่ปี 62 มากกว่าปิด หนุนยอดจ้างงานพุ่ง 1.7 แสนคน

"กระทรวงอุตสาหกรรม" แจงยิบยอดเปิดโรงงานใหม่ปี 62 มากกว่าปิด หนุนยอดจ้างงานพุ่ง 1.7 แสนคน สะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุน


น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 21 พ.ย. 2562 มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการรวม 3,950 แห่ง มีการจ้างงานใหม่ 178,733 คน มูลค่าการลงทุนรวม 445,025 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.94% ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นประเทศไทย แม้ว่าทั่วโลกจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม

โดยอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการสูงสุด ประกอบด้วย

กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 490 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 33,971 คน มูลค่าการลงทุน 52,033 ล้านบาท

กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก 425 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 15,735 คน วงเงินลงทุน 23,351 ล้านบาท

กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน 340 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 15,015 คน วงเงินลงทุน 27,547 ล้านบาท

กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 327 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 10,339 คน วงเงินลงทุน 87,631 ล้านบาท

และ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 92 โรงงาน มีการจ้างงานใหม่ 19,819 คน วงเงินลงทุน 30,322 ล้านบาท

 

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ มีจำนวน 2,975 โรงงาน ซึ่งสูงกว่าโรงงานที่ขอปิดกิจการ ที่มีจำนวน 1,480 โรงงาน โดยยังมีความต้องการแรงงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าแรงงานที่ถูกเลิกจ้างถึง 141,470 คน  ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงขอให้แรงงานใหม่และผู้ที่ว่างงานมั่นใจว่าโรงงานที่เปิดใหม่ และโรงงานเดิมที่ขยายกิจการจะสามารถรองรับแรงงานที่ต้องการทำงานได้อีกจำนวนมาก

นอกจากนั้น น.ส.สุชาดา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากข้อมูลตัวเลขสถานการณ์เปิดโรงงานใหม่ การปิดกิจการ และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของ กรอ. ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขการลงทุนที่เป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้น จากจำนวนการเปิดโรงงานใหม่ที่มีมากกว่าการปิดกิจการโรงงานสูงถึง 101% และเงินลงทุนในปี2562 ที่มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37.94 %

ส่วนทางด้าน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันพบว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ จึงจำเป็นต้องมีแนวทาง และมาตรการที่เร่งด่วนทั้งระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมไทย

โดยมาตรการระยะสั้น ภาครัฐต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐ เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ และดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก

ส่วนมาตรการระยะกลาง  ต้องเร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ  เร่งส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ  ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่และบรรเทาการว่างงาน  รวมถึงออกมาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน เริ่มลงทุนจริงในปี 2563  และให้ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงควรพิจารณาเพิ่มการลงทุนในกรณีที่มีสภาพคล่องอีกด้วย

Back to top button